เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ โรงแรมเดอ ไพร์ม รางน้ำ กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ได้จัดการเสวนาสื่อ เรื่อง “ชำแหละ รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย” เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณะทราบถึง กระบวนการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ ความไม่ชอบมาพากลของรายงาน และความไม่ชอบธรรมขององค์ประกอบคณะกรรมาธิการฯ จากกรณีที่คณะกรรมาธิการฯให้ข่าว ว่ามีการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย 2.ให้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนถูกกฎหมาย และ 3.ให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทถูกกฎหมาย

ศ.อิศรา ศานติศาสน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านภาษียาสูบ กล่าวว่า การที่คณะกรรมาธิการฯ ยกประเด็นเศรษฐกิจมาเป็นข้ออ้างอันหนึ่งที่จะยกเอาบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดิน โดยบอกว่ารายรับภาษีจะเพิ่มขึ้น ไม่อาจโต้แย้งผลเสียที่จะเกิดขึ้นได้ อาทิ กรณีบางพรรคการเมืองเสนอให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้เฉพาะที่ไม่มีกลิ่นรส แต่ความจริงคือเด็กและเยาวชนถึงกว่า 90% สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบมีกลิ่นรส ดังนั้นแม้คณะกรรมาธิการฯ จะให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้เพราะยังจะพบการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าชนิดกลิ่นรสแบบผิดกฎหมายให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งเก็บภาษีไม่ได้ อีกทั้งมีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบว่าภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากความเจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าถึง 1,500 เท่า ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดกับสุขภาพเด็กและเยาวชน

ศ.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า การที่มีการอ้างว่าการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการละเมิดสิทธิผู้สูบจึงไม่ถูกต้อง เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ จึงไม่ใช่สินค้าปกติที่จะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่เหนือสิทธิการดูแลสุขภาพซึ่งสำคัญกว่า อีกทั้งบุหรี่ไฟฟ้ามีผลเรื่องบุหรี่มือสองมือสามกระทบบุคคลต่อรอบข้างโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนและรัฐบาลไทยที่จำเป็นจะต้องตระหนักถึงสิทธิของเด็ก โดยรัฐมีหน้าที่ปกป้องไม่ให้เป็นเหยื่อของบริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ คือ สิทธิเด็กที่จะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง จากสารเสพติดต่างๆ

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รอง ผอ.ศจย. กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย คือ หายนะของเด็กและเยาวชนไทย เหมือนสึนามิที่มาเร็วและทำลายล้างสูง เพราะมีนิโคตินสังเคราะห์ ดูดซึมได้เร็วและเยอะกว่า เมื่อหายใจเข้าไปภายใน 7 วินาทีก็จะเข้าสู่เลือดไปสู่สมองกระตุ้นตัวรับในระบบประสาทให้หลั่งสารสื่อประสาทหลายชนิด เกิดการเสพติดง่าย เลิกยากโดยเฉพาะเด็ก และยังส่งผลต่อหลอดเลือด ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) มะเร็ง และอีกมาก นอกจากนี้ ยังตรวจพบโลหะหนักที่เกิดควัน เกิดฝุ่น PM2.5 และเล็กกว่า โดยภายในห้องก่อนสูบหลังสูบพบว่า PM 2.5 เพิ่มขึ้นถึง 800 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“มีการทดลองเอาคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 2 คน ไปนั่งกับคนไม่สูบ 6 คน ในห้องปิด 2 ชั่วโมง เจาะเลือดตรวจปัสสาวะก่อนและหลัง พบสารของนิโคตินเพิ่มขึ้นในคนไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 100 เท่า วัดนิโคตินตกค้างในเสื้อผ้า พรม ผ้าม่าน พบว่านิโคตินสะสมในสิ่งแวดล้อม 10 เท่าของช่วงก่อนสูบ” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว.