โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่าย จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร มีการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ไปทั่วโลก ในรูปแบบไฮบริด ปีนี้การประชุมใช้หัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อปกป้องการเปลี่ยนแปลงของโลก” (Sustainable Development towards Defending Global Change)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิด และทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Sustainable Development through the Initiatives of the Chaipattana Foundation : Safeguarding Against Global Changes” สรุปใจความสำคัญ ดังนี้
พอเพียงรักษาสมดุลต่อยอดอนาคต
การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development นั้นเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน แต่ยังต้องคำนึงถึงความต้องการของคนในอนาคตด้วย โดยให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุล ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ การดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการให้ความสำคัญแก่ผู้คนในสังคม
มูลนิธิชัยพัฒนา ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีแนวทางการพัฒนาแบบบูรณาการ ที่เชื่อมโยงทุกด้านของการพัฒนาเข้าด้วยกันอย่างสมดุล ทั้ง โครงการด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ที่เน้นการบำบัดนํ้าเสียและกำจัดขยะโดยใช้วิธีการทางธรรมชาติ และโครงการศูนย์วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์นํ้ามันเมล็ดคามิเลียและนํ้ามันพืชอื่น จังหวัดเชียงราย ที่ให้ความสำคัญกับการปลูกป่า โดยปลายทางได้ผลิตนํ้ามันเมล็ดคามิเลียที่มีคุณภาพต่อการบริโภค
ในส่วนของ โครงการด้านการเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้สนับสนุน
ให้ชุมชนปลูกผักปลอดภัยเพื่อการบริโภค รวมทั้งผลิตเมล็ดพันธุ์ผักและเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ อีกทั้ง โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่เป็นหลักการในการจัดการทรัพยากรเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับโครงการด้านการช่วยเหลือสังคมและชุมชน เช่น โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ จังหวัดสมุทรสงคราม และ โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้ว ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์วิถีชีวิตของชุมชนแบบดั้งเดิมเพื่อมิให้สูญสลายไปตามกาลเวลา
รวมทั้ง โครงการด้านพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น โครงการภัทรพัฒน์ เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อสร้างช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกร และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่โครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนานำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
4 หัวข้อหลักพัฒนายั่งยืน
การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ การจัดการนํ้าเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ การรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักวิจัย และนักศึกษาได้แสดงผลงานวิจัยและสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีหัวข้อการประชุมใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการปรับตัวของทรัพยากรธรรมชาติ 2. การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติและมลพิษทางธรรมชาติ 3.มาตรการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และการปรับตัวตามสิ่งแวดล้อม 4. การพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นรวมจำนวน 3 วัน โดยมีวิทยากรพิเศษซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากกว่า 20 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐออสเตรีย เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐฝรั่งเศส
เศรษฐกิจพอเพียงตอบโจทย์ SDG
นอกจากนี้ได้มีการนำเสนอผลงาน และการเสวนาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยผู้แทนองค์กรชั้นนำจากนานาประเทศ จำนวน 131 เรื่อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมค่ายโครงการแข่งขันการพูดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ โครงการนวัตกรรมบูรณาการศาสตร์ และโครงการประชุมวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมระดับชาติ ของนิสิตนักศึกษา โดยมีนักวิชาการจากทั่วโลก นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วม กิจกรรมกว่า 500 ราย โดยการประชุมนี้ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ อาทิ C ASEAN มูลนิธิโลกสีเขียว สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย สมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันการส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย องค์กรธุรกิจ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน Environmental Education Center Thailand บริษัท 360 องศา เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท ซีแมน จำกัด และเครือข่ายจากนานาชาติได้แก่ Winrock International (USDA) และ UNESCO INRULED พร้อมด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ผมได้มีโอกาสร่วมงานเป็นอาสาสมัคร เป็นพิธีกร เป็นผู้ร่วมบรรยาย และเป็นประธานในห้องสัมมนาย่อยที่เหล่านักวิชาการนานาชาติ ได้นำเสนอผลงานจากโครงการวิจัยต่าง ๆ ผมได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เดินทางมาจากทั่วโลก ซึ่งหลายท่านมาร่วมประชุมตั้งแต่ครั้งแรกต่อเนื่องมาโดยตลอด หลายท่านคุ้นเคยกับเมืองไทยดี และได้ใช้ความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในงานวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ทั้งโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการการพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ที่กำลังมาแรง หลายท่านได้บรรยายหลักการ Sufficiency Economy Philosophy ในงานของท่านที่นำไปปฏิบัติจริงในชุมชนต่าง ๆ ได้ผลสำเร็จมาแล้วทั่วโลก ทุกคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือแนวคิด แนวปฏิบัติ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีประสิทธิภาพ
ชูกรณีศึกษาให้นักศึกษาเห็นจริง
ความเห็นจากนิสิต นักศึกษา ที่มาร่วมการประชุมทั้ง 3 วันบอกว่า ชอบการจัดงานในปีนี้ ที่ผสมผสานอย่างลงตัว ระหว่างงานวิชาการ งานวิจัยนวัตกรรมต่าง ๆ กับการนำเสนอโครงการจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยการนำเสนอของนักปฏิบัติ มีทั้งล้มเหลวมาก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับปรุงจนสำเร็จ โดยเฉพาะชอบฟังเวทีส่งท้ายที่เป็นฟินาเล่ ซึ่งได้นำเสนอตัวอย่างกรณีศึกษา ที่มีนักปฏิบัติจากภาคธุรกิจ CSO Chief Sustainable Officer จากองค์กรธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลก มาเจอกับผู้บริหารองค์กรไม่แสวงหากำไร มูลนิธิ วิสาหกิจเพื่อสังคมยุคใหม่ ซึ่งทุกท่านต่างใช้หลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเข็มทิศนำทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งสิ้น
ส่วนผมชอบการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจพอเพียง มี DNA ของความยั่งยืน เป็นประชากรโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ใส่ใจอนาคตที่ยั่งยืน เพราะพวกเขาคือคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ได้โชว์ตัวอย่างนวัตกรรมสุดว้าว ๆ ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไปรวมตัวกันในค่ายสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่จริง นำปัญหาชุมชนมาแก้ไข โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้แบบ Problem Based Learning ผ่าน Design Thinking จนได้นวัตกรรมพอเพียงต้นแบบ และที่สำคัญมีประกวดการพูดสุนทรพจน์ ที่มีตัวแทนของเยาวชนโลกมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะโลกเดือด พร้อมกับเล่าประสบการณ์ที่พวกเขาลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเป็น Change Maker และพวกเขาก็อยากให้ผู้ใหญ่สนับสนุนสิ่งที่เขาทำ และเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน
นานาชาติต่อยอดพัฒนาโครงการ
ชาวโลก…ตามรอยพ่อ นักวิชาการจากนานาชาติที่มาในงานนี้ได้น้อมนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไปขยายผล ต่อยอดในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เป็นเข็มทิศนำทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG
มิเพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่สนใจ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” วันนี้เด็ก ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศได้เรียนรู้ ทดลองปฏิบัติ จนเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ … “พอเพียง ยั่งยืน” … ท่านใดสนใจรายละเอียดต่าง ๆ สามารถติดต่อคณะผู้จัดการประชุม เพื่อขอข้อมูล หรือร่วมเป็นเครือข่าย ICELS ได้ที่ http://www.icels-ku.com/