เป็นช่วงเวลาพิเศษที่สร้างประสบการณ์ที่เป็นความประทับใจให้กับนายนฤเบศน์ รักษ์วิจิตร นักศึกษาทุนความสามารถพิเศษ (ด้านวิชาการ) Academic Excellence คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ หลักสูตรนานาชาติ (BU International) และนายกสโมสรนักศึกษาปี 2567 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่อยากชวนผู้อ่านทุกคนมาทำความรู้จักตัวเขาผ่านประสบการณ์

สิ่งสำคัญ
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการมีชีวิตอยู่คือการรู้จักตัวเอง” (The most important thing of living is knowing yourself) ประสบการณ์ที่ผมอยากชวนส่งต่อแชร์เรื่องราวเมื่อผมได้รับเลือกเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ YSBEA 2024-2025 (Youth Sounding Board EU-ASEAN) ให้เป็นสมาชิกคณะกรรมการเสียงสะท้อนเยาวชนสำหรับสหภาพยุโรปในอาเซียนชุดแรก กับภารกิจแรกได้เข้าร่วมการหารือระดับสูงกับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป-อาเซียน และสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีภารกิจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้เยาวชนในภูมิภาคอาเซียนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและโครงการความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์จุดมุ่งหมายหลัก คือการเสริมพลังให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน โดยผมเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านการศึกษาและสุขภาพเป็นสำคัญ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะเป็นคณะกรรมการชุดแรกของโครงการนี้ และถือเป็นคนแรกจากประเทศไทยด้วย หลังจากภารกิจครั้งนี้แล้ว ผมยังต้องทำหน้าที่ต่อเนื่องในตลอดระยะเวลา 1-2 ปี ทั้งการเป็นตัวแทนในการพัฒนานโยบายระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน รวมถึงการเป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศไทยในระดับนานาชาติอีกด้วย

ครั้งแรกของประสบการณ์ที่อินโดนีเซีย
อีกหนึ่งความตื่นเต้นของผมคือ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้มาประเทศอินโดนีเซีย เคยเห็นผ่านสื่อออนไลน์ สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือที่นี่มีความคล้ายประเทศไทยในเรื่องของแสงแดดที่มีอุณภูมิไม่ต่างจากบ้านเรา เมื่อเข้าร่วมโครงการประชุมพูดคุยหารือกันเสร็จ ต้องเติมพลังท้องมีหนึ่งเมนูที่อาจดูไม่ว้าวแต่รสชาติทำถึงคือ ไก่ทอดอายัมโกเร็ง เป็นไก่ทอดอินโดนีเซียที่หอมเครื่องเทศรสชาติอร่อยและมีเอกลักษณ์ เมื่อแอบถามถึงเคล็ดลับความอร่อยคือการใช้เครื่องเทศท้องถิ่นจึงทำให้มีรสชาติแตกต่างจากไก่ทอดทั่วไป เมื่อความอร่อยของรสชาติที่ทำถึง ผสมผสานความกรอบก็คือที่สุด ขอยกให้เป็นเมนูแนะนำ และอีกหนึ่งสิ่งที่ทำรู้สึกดีตั้งแต่ครั้งแรกเลยคือ ผู้คนที่นี่นั้นน่ารักและเป็นมิตร ทำให้การปรับตัวเป็นไปได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีบางมุมค่อนข้างคล้ายคลึงกับประเทศไทย ทั้งในแง่ของบรรยากาศและสิ่งแวดล้อม ทำให้รู้สึกการเรียนรู้และปรับตัวกับพื้นที่สิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวันที่นี่ค่อนข้างสบายมาก ไหนๆ มาในสถานที่ที่เป็นกันเองแบบนี้เรื่องของภาษาประจำชาติก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ เรามาบ้านเขาก็ต้องเรียนรู้คำทักทายให้ได้รู้และฝึกพูดให้คล่อง เป็นคำทักทายเมื่อเจอกัน สองคำที่สำคัญ คือ “selamat” อ่านออกเสียงว่า “เซอ-ลา-มัต” ที่มีความหมายแปลว่า “สวัสดี” และอีกคำ “terima kasih” อ่านออกเสียงว่า “เตอ-ริ-มา-กา-ซี” มีความหมายแปลว่า “ขอบคุณ” ที่อยากชวนให้ทุกคนได้เรียนรู้เป็นคำที่ทำให้ได้รับรอยยิ้มทุกครั้งที่เราพูด เช่นเดียวกับคำทักทายบ้านเรา สวัสดีครับ/ค่ะ เป็นคำที่เวลาคนต่างบ้านต่างเมืองพูดก็ทำให้รู้สึกว่าน่ารักและยินดีที่จะร่วมพูดคุยด้วยมิตรภาพที่สร้างรอยยิ้ม..