เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ บช.สอท. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รรท.ผบช.สอท. พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. พล.ต.ต.นาวิน เส็งสมวงศ์ ผบก.อก.บช.สอท. ร่วมแถลงข่าวตำรวจไซเบอร์เชิญชวนประชาชนร่วมทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์สร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ พร้อมเปิดตัว รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีฝ่ายความปลอดภัย ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษ บช.สอท.

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า  สืบเนื่องจากนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ที่เน้นย้ำการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น อาชญากรรมทางเทคโนโลยี การพนันออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากมิติของการปราบปรามแล้ว มิติของการป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับพี่น้องประชาชนถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ตำรวจไซเบอร์ให้ความสำคัญ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ วัคซีนไซเบอร์ ให้กับประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ในทุกรูปแบบ หลังพบว่ามีคดีอาชญากรรมออนไลน์เกิดขึ้นสูง ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคดีหลอกขายสินค้าหรือบริการ, รองลงมาคือคดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษ และคดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยในแต่ละคดีมีผู้เสียหายต่อวันจำนวนมาก ส่วนคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดคือคดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ รองลงมาคือคดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษ โดยมีมูลค่าความเสียหายหลายสิบล้านบาทต่อวัน และด้วยเหตุนี้

ตำรวจไซเบอร์จึงจัดทำ คู่มือและสื่อประกอบการบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชน ในรูปแบบของ E-Book เพื่อให้ตำรวจทั่วประเทศสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชนไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมขอเชิญชวนประชาชนร่วมทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ เพื่อสร้างการรับรู้ การตระหนักรู้ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสมือนการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค

ทั้งนี้ ในการจัดทำโครงการดังกล่าว มีการจัดเตรียมของรางวัลให้กับประชาชนที่มีส่วนร่วมในการทำข้อสอบวัคซีนไซเบอร์ เดือนละ 1 รางวัล และรางวัลให้กับข้าราชการตำรวจที่เผยแพร่ข้อมูลภัยออนไลน์ตามโครงการวัคซีนไซเบอร์เป็นจำนวนมากที่สุดในแต่ละปี จำนวน 1 รางวัล และขอเชิญชวนพี่น้องประชาช ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Cyber Check ที่ตำรวจไซเบอร์ได้คิดค้น ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ช่วยประชาชนคัดกรองมิจฉาชีพจากเบอร์โทรศัพท์ปริศนาที่โทรฯ เข้ามา รวมทั้งสามารถใช้แอปพลิเคชันตรวจสอบเลขบัญชีธนาคารก่อนจะโอนเงินได้ เพียงนำหมายเลขบัญชีไปใส่แล้วกดโทรออก โดยระบบ Cyber Check ใช้ฐานข้อมูลโดยตรงจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อดีของแอปพลิเคชัน Cyber Check คือ ระบบไม่มีการดึงข้อมูลของผู้ใช้งานเหมือนแอปพลิเคชันอื่นๆ แต่ใช้ฐานข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีการร้องเรียนและดำเนินคดีจริง โดยในอนาคตจะเป็นการสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจซื้อสินค้า เพราะแอปพลิเคชันมีแผนในการลงทะเบียนรวบรวมข้อมูลผู้ทำการค้าออนไลน์จริงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ทั้งนี้สามารถใช้แอปพลิเคชัน Cyber Check ได้แล้วทั้งในระบบ Android และ iOS โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งบน Google Play และ App Store 

ขณะเดียวกันด้วยเป้าหมายสำคัญในการยกระดับการดำเนินงานด้านอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ซึ่งมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทาง บช.สอท. ได้เชิญ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และการบริหารงานในระดับสูง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์แก่ตำรวจไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเชิงรุก การพัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวน รวมถึงการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์ที่ท้าทายมากขึ้น สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของตำรวจไซเบอร์ในการสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในทุกมิติ

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจาก บช.สอท. ให้มาร่วมเป็นที่ปรึกษาและร่วมขับเคลื่อนงานในการป้องกันเฝ้าระวังและแก้ปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ตามสถิติ 1,000 รายต่อวัน ความเสียหาย 80-100 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งถือว่าเยอะมาก ซึ่งตำรวจเองก็มีข้อจำกัดหลายประการทั้งกำลังพล และงบประมาณ ความพร้อมในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การช่วยเหลือและดูแลพี่น้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทางออนไลน์ ซึ่งโครงการที่ทางผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ รวมถึงทีมงานที่มีการคิดค้นขึ้นมาโดยเฉพาะโครงการไซเบอร์เซ้น ถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ในโครงการของการสร้างภูมิคุ้มกันให้พี่น้องประชาชน เรื่องการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทางออนไลน์ จริงๆ แล้วทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการขับเคลื่อนอยู่แล้ว และคงมีการพัฒนาขับเคลื่อน ไปในหลายมิติเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มบุคคล ทุกวัยทุกอาชีพ ซึ่งตรงนี้จะมีการนำมาวิเคราะห์ร่วมกับทางทีม สอท. ต่อไปในส่วนของอีบุ๊กทางกองบัญชาการได้มีการทำขึ้นมาให้มีประโยชน์กับทางตำรวจท้องที่ในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ และถ่ายทอดไปยังพี่น้องประชาชน

สิ่งที่น่าสนใจคือแอปพลิเคชันไซเบอร์เช็คที่ทาง บช.สอท. ได้คิดค้นขึ้นมาและได้เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดได้ ทั้งในระบบแอนดรอยด์ และ iOS หมายความว่าถ้าพี่น้องประชาชนเกิดสงสัยเบอร์โทรฯ หรือแม้กระทั่งลิงก์ที่มีการเปิดเพจเปิดเว็บ ทางพี่น้องประชาชนก็สามารถเข้าไปเช็กได้ว่าเป็นเพจปลอมหรือไม่ รวมถึงเช็กบัญชีของร้านค้าที่เปิดทางออนไลน์ว่าเป็นเลขบัญชีของร้านค้าจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการประสานงานไปยังสื่อโซเชียลมีเดียมีความล่าช้า แต่ถ้านำลิงก์ หรือ URL  เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารมาเช็กในแอปพลิเคชันไซเบอร์เช็ค ก็จะสามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสิ่งที่ทาง สอท. ทำมาทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์ได้.