เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่กรมยุทธศึกษา จ.นครปฐม  กองทัพเรือ จัดงานเสวนาวิชาการ “หลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล” เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรือ ความท้าทายที่กองทัพเรือต้องเผชิญ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย น.อ.เกียรติยุทธ เทียนสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ, น.อ.หญิง มธุศร เลิศพานิช รองผู้อำนวยการกองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือ, น.อ.รชต โอศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ และ น.อ.สมาน ได้รายรัมย์ อาจารย์ฝ่ายศึกษาโรงเรียนนายเรือ

โดยบรรยากาศไปอย่างดุเดือดในช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวถามคำถาม ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนและหลักการของกองทัพเรือ ในการแบ่งประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา ควรให้ได้ข้อยุติในการปักปันเขตแดนก่อนนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ หรือทำสองอย่างคู่ขนานกันไป และกองทัพเรือใช้หลักการอะไรให้ได้ข้อยุติในการปักปันเขตแดน 

ด้าน น.อ.สมาน กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนในครั้งที่เราลงนามเอ็มโอยู 44 ในสภาวะแวดล้อมปัจจัยอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ปัจจุบันผ่านมากว่า 20 ปี สภาวะแวดล้อมปัจจัยที่จะหาข้อยุติ ก็จะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และเรามีอะไรบางอย่างที่อยู่ในใจ ทำให้สภาวะแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า สภาวะแวดล้อมก็ต้องเปลี่ยนไปอีก ในการพิจารณาก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นกัน

เมื่อถามย้ำว่าจุดยืนของกองทัพเรือเห็นชอบตามที่คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) หากการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน ทำคู่ขนานไปกับการปักปันเขตแดนใช่หรือไม่ น.อ.สมาน กล่าวว่า “ในเวทีตรงนี้ขออนุญาต เราไม่สามารถที่จะตอบในระดับของผู้บริหารกองทัพได้ ผมตอบไม่ได้ ตรงนี้ยืนยันได้ว่า เรายังปกป้องเส้นตรงอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีอะไรเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาล หรือระดับอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา กองทัพเรือยึดเส้นตรงอย่างเคร่งครัด”

เมื่อถามย้ำว่า หากมีนโยบายปฏิบัติที่ชัดเจนแล้วกองทัพเรือก็พร้อมปฏิบัติตามใช่หรือไม่ น.อ.เกียรติยุทธ กล่าวว่า หากนโยบายนั้นเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายของปวงชนชาวไทย แน่นอนว่ากองทัพเรือต้องทำหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายเพราะรัฐบาลมาจากประชาชน และกองทัพก็ถือว่ารัฐบาลคือเสียงของประชาชน.