นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงดีอี และกูเกิล ในการปราบปรามและป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อเดือนเมษายน 67 ที่ผ่านมา ที่เป็นการป้องกันการติดตั้งแอปพลิเคชันที่เป็นอันตราย และมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักโดยอัตโนมัติ บนสมาร์ตโฟนระบบ แอนดรอยด์ ด้วยฟีเจอร์ กูเกิล เพย์ โพรแทค ซึ่งเป็นการสกัดช่องทางการก่อเหตุของมิจฉาชีพ ที่ต้องการจะเพื่อหวังดูดเงิน หรือข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกูเกิลในประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญในการป้องกันความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นด้านการใช้งานดิจิทัลให้กับประชาชน

“โครงการนี้ ช่วยสกัดกั้นความพยายามของมิจฉาชีพ ในการติดตั้งแอปที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 4.8 ล้านครั้ง บนอุปกรณ์ แอนดรอยด์ กว่า 1 ล้านเครื่อง บล็อกแอปไปกว่า 41,000 รายการ จากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์ ซึ่งรวมไปถึงแอปปลอมที่มีการแอบอ้างเป็นแอปรับส่งข้อความ แอปเกม และแอปอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมด้วย”

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงดีอี มุ่งมั่นดำเนินการสร้างความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในลักษณะโครงการความร่วมมือดังกล่าวกับบริษัทชั้นนำของโลก ตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการป้องกันและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและทรัพย์สินของประชาชน หรือด้านการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล พร้อมก้าวสู่การเป็น ดิจิทัล เนชั่น ต่อไป  

“โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงดีอี และกูเกิล ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีให้กับคนไทย โดยฟีเจอร์ดังกล่าว ทำหน้าที่ในการตรวจจับและบล็อกแอปที่เป็นอันตราย เช่น แอปที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมโทรศัพท์ หรือแอปดูดเงิน ก่อนที่จะมีการติดตั้งลงในอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน ซึ่งช่วยให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับคนไทย เพื่อการก้าวสู่การมีเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย และยั่งยืน”