เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ (Thai Society of Cosmetic Dermatology and Surgery) นำโดยพญ.นลินี สุทธิพิศาล นายกสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ, รศ.พิเศษ พญ.วิไล ธนสารอักษร กรรมการและประชาสัมพันธ์ สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ, ดร.พญ.อัจจิมา สุวรรณจินดา กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ และนพ. สมิทธิ์ อารยะสกุล กรรมการสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ ร่วมกันแถลงข่าวกิจกรรม “Master of Complication หัตถการความงาม”
พญ.นลินี กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องการเสริมความงามมีนวัตกรรมต่างๆ ออกมามากมาย ทางสมาคมฯ จึงต้องมีการติดตามข้อมูลเพื่อนำมาเผยแพร่ให้เกิดความรู้เท่าทันทั้งในส่วนของแพทย์ และผู้รับบริการ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือการเลือกรับบริการจากแพทย์จริง สถานพยาบาลจริง ผลิตภัณฑ์ของจริง และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการสวยจากภายใน คือจิตใจที่ดี พักผ่อนอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ความงามออกมาจาภายในจริงๆ เพราะหากมีการทำหัตการความงามมาแล้วแต่กลับไม่ยอมพักผ่อน ไม่ยอมนอน แล้วความงามนั้นจะคงทนได้อย่างไร
สำหรับการนำพาประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านความงาม (ฮับ) นั้น จริงๆ ทรัพยากร คนไทยมีทั้งศาสตร์และศิลป์ มีการเรียนรู้เทคนิกต่างๆ การแก้ไขปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ มาตลอด ร่วมกับสมาชิกกว่า 1 พัน คนมีความโดดเด่นมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สามารถเป็นผู้นำในการจัดประชุมนานาชาติ “IMCAS asia” ปีนี้เป็นปีที่ 6 ในเดือน มิ.ย.2568 ซึ่งทำให้แพทย์ไทยสามารถยกระดับความสามารถ และการที่เราจัดประชุมวิชาการนี้ก็ถือเป็นการสอดประสานนโยบายของรัฐบาล และเชื่อมั่นว่าเราสามารถเป็นหนึ่งในฮับได้ในด้านองค์ความรู้ และในแง่ของการบริการ มั่นใจว่าเราจะสนองนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
ดร.พญ.อัจจิมา กล่าวว่า การประชุมแต่ละครั้งเราจะมีผู้เข้าร่วมประชุมมากขึ้นทุกปี ถือว่าเราก็เป็นหนึ่งในฮับ เป็นประเทศที่มีคนเข้าคิวมามากที่สุด ถือว่าประสบความสำเร็จในการสื่อความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อประเทศไทยเป็นฮับความงาม สอดคล้องนโยบายของประเทศไม่ใช่แค่งานประชุมของบรรดาแพทย์เท่านั้น ตอนนี้สิ่งที่เราต้องทำต่อคือทำให้เป็นงานที่มีความเข้มแข็ง และเข้มข้นในแง่ขององค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งจะช่วยดึงคนเข้ามาลงทุน และท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนแพทย์ไทยนั้นเรามีการยกระดับตัวเองไประดับโลก ดึงทั้งแพทย์ และดึงคนไข้เข้ามารักษา หรือรับบริการความงามในประเทศไทยมากขึ้นด้วย
“เราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้นในปีหลังๆ มีรองนายกรัฐมนตรีมาเปิดงาน หรือรัฐมนตรีมาเปิดงาน เรียกว่าเป็นการให้ความสำคัญกับงานประชุมของเรา เพราะอย่างที่บอกว่า สิ่งที่เราทำนั้นไม่ใช่แค่งานประชุมของสมาคมฯ แต่นี่คืองานประชุมของประเทศและเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับจริงๆ เราต้องการให้เป็นความสำเร็จของประเทศ ทุกคนในสมาคมจึงทุ่มเทให้เกิดขึ้น” กล่าว และว่า สิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันทำให้วงการความงามของไทยมีมาตรฐาน และลดสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานออกไป อย่างปัญหาการฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ สารเติมเต็ม สกินบูสเตอร์ ไม่ได้มาตรฐานแล้วเกิดผลกระทบหน้าเบี้ยว หนังตาย ติดเชื้อ อุดตันเส้นเลือด ตาบอด เป็นต้น
รศ.พิเศษ พญ.วิไล กล่าวว่า การรับบริการต้องตรวจสอบว่าแพทย์ผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจริงหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของแพทยสภา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตรวจสอบสถานพยาบาลว่าขึ้นทะเบียนหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)
เมื่อถามถึงมูลค่าตลาดความงามในประเทศไทย นพ. สมิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้แยกยากจากเครื่องสำอาง เพราะประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลเวชศาสตร์ความงามกับเครื่องสำอาง และทั้งหมด ไม่ได้แยกออกจากกัน ทั้งนี้ ข้อมูลปี 2566 อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท และยังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเรื่องความงามโตเร็วมาก ๆ อดีตจะไปทางสหรัฐอเมริกา แต่ตอนนี้เอเชียแปซิฟิกที่เป็นอันดับ 2 โดยคาดการณ์ว่ามีความใกล้เคียงกับยุโรป เรียกว่าโตเร็วมาก อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนตระหนักถึงการรับบริการที่มีมาตรฐาน