การได้เดินทางออกไปหาประสบการณ์ทำงานในต่างแดน คือสิ่งที่หลายคนคนใฝ่ฝัน อาชีพด้านฟุตบอลก็เช่นกัน ถ้าหากมีโอกาสทำได้ แทบทุกคนย่อมอยากจะออกไปเล่นในต่างประเทศดูสักครั้ง

ต่างประเทศที่ว่า ส่วนใหญ่คงเข้าใจไปว่าเป็นประเทศศิวิไลซ์ ที่มีความเจริญก้าวหน้ากว่าเราในทุกด้าน รวมถึงด้านศาสตร์ฟุตบอล ที่จะได้กอบโกยเอาความรู้ใส่ตัวได้อย่างเต็มที่

คงมีไม่มากเท่าไหร่ ที่อยากไปทำงานในประเทศที่ดูแล้วด้อยกว่าเรา ทั้งเรื่องประสบการณ์ที่จะได้ ความเหนื่อยยากลำบาก รวมถึงค่าตอบแทนที่จะได้ ไม่มีใครรับประกันได้ว่า จะได้ดีกว่าในประเทศไทย

แต่ตอนนี้ มีโค้ชไทยคนหนึ่งกำลังโลดแล่น และไปได้สวยในลีกของประเทศที่คนไทยอาจจะยังไม่ได้สนใจติดตามมากนักอย่าง “กัมพูชา”

เขาคนนั้นมีชื่อว่า “โค้ชเปรม” อัครพล อ่อนศรี และวันนี้ “ข่าวกีฬาเดลินิวส์” จะพาคุณไปทำความรู้จักกับเขา และเหตุผลว่าทำไม เขาถึงเลือกไปคุมทีมในประเทศอย่าง “เขมร”

หมายเหตุ – เนื่องจากเป็นการสัมภาษณ์ที่ยาว เราจึงจะคัดสรรตัดแบ่งเป็นตอนนำเสนอ เพื่อให้เนื้อหาในแต่ละตอนไม่ยาวนัก โดยตอนแรก เริ่มต้นด้วยการไปทำความรู้จัก “โค้ชเปรม” กันก่อน

แนะนำตัวเองหน่อยครับ
สวัสดีครับ ชื่อ อัครพล อ่อนศรี ชื่อเล่น เปรม ครับ เกิด 1 สิงหาคม 2539 อายุ 28 ปีครับ ตอนนี้เป็นผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตูที่สโมสร บึงเกตุ เอฟซี ลีกสูงสุดของประเทศกัมพูชาครับ

เล่าจุดเริ่มต้นของการเล่นฟุตบอล และการตัดสินใจมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปตอนอายุประมาณ 4 ขวบครับ ตอนเด็กๆ ผมไม่ค่อยแข็งแรงครับ คุณพ่อคุณแม่เลยอยากให้ออกกำลังกายครับ ก็เลยไปเห็นที่กรมทหารราบ 11 เขามีจัดแข่งบอลอะไรสักอย่างครับ ก็เลยเข้าไปคุย แล้วก็นัดวันให้มาลองเรียนฟุตบอลครับ

หลังจากนั้นก็เตะฟุตบอลมาเรื่อยๆ ครับ จนประมาณ 10 ขวบ ก็ไปซ้อมฟุตบอลที่อคาเดมีชื่อว่า “โจโฉ” ครับ พอประมาณช่วง ป.6 เป็นช่วงที่กำลังจะเข้าเรียน ม.1 กัน พวกเพื่อนๆ ก็ไปคัดตามโรงเรียนกีฬากันครับ ส่วนทางของผม ที่บ้านให้ไปสอบที่โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีครับ

ด้วยความที่ตอนนั้นฟุตบอลไม่ได้เป็นค่านิยมเหสือนในสมัยนี้ครับ ที่บ้านเลยอยากให้เน้นเรียนดีกว่า แต่ด้วยความที่ความฝันเราคืออยากเป็นนักฟุตบอลครับ เราก็เล่นกับโรงเรียนตลอดครับ ก็ไม่ค่อยจะเรียนครับ ชอบเล่นฟุตบอล

จนถึงช่วง ม.6 ครับ ทางที่บ้านก็อยากให้เรียนรัฐศาสตร์ครับ เพราะคิดว่ามันจะดีกับตัวเราในอนาคต แต่ด้วยความที่เราชอบกีฬาครับ เรารักฟุตบอล ก็เลยขอที่บ้านว่า ขอไปลองคัดตามมหา’ลัยต่างๆ ได้ไหม ที่บ้านก็อนุญาตครับ แต่คัดไม่ติดครับ 55555

จนใกล้จะประกาศผลเข้ามหาวิทยาลัยครับ ผมได้เห็นทางอินเทอร์เน็ตว่ามีรับสมัคร คณะสหเวชศาสตร์วิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาการจัดการกีฬา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแบบยื่นพอร์ตครับ เราก็เลยลองสมัครไป ตอนสมัครก็บอกกับที่บ้านครับ ว่าอยากเรียนอันนี้ เราไม่รู้หรอกครับว่าคือคณะอะไร แค่เห็นมันมีคำว่ากีฬาก็อยากเรียนแล้ว

จริงๆ ที่บ้านก็กังวลกลัวว่าแบบจบมาแล้วจะเป็นยังไง แต่เราก็ไม่ค่อยสนครับ คือตอนนั้นคิดแค่ว่ามันเป็นกีฬา และมันคือธรรมศาสตร์ ก็เลยสมัครไป แล้วก็ได้เรียนที่นั่นครับ แล้วหลังจากนั้นชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนครับ

พอเข้ามหา’ลัยไปช่วงนั้นอายุประมาณ 17-18 ครับ มีฟุตบอลรายการโค้กคัพ เราก็ไปคัดที่สโมสร “เกร็กคู ลูกทัพฟัา” แล้วก็ติดครับ ไปแข่งสรุปตกรอบแรกครับ แล้วก็กลับมามหาวิทยาลัยครับ ช่วงนั้นที่มหา’ลัยมีรายการ freshy mister doughnut ที่จะต้องไปแข่งกับมหา’ลัยอื่น เราก็ไปคัดครับ ก็ติดทีมไป เป็นฟุตบอลมหา’ลัยครั้งแรกเลยครับ ก็ตกรอบแรกเหมือนเดิมครับ

หลังจากนั้นทางมหา’ลัยได้ก่อตั้งสโมสรเพื่อส่งแข่งในดิวิชั่น 2 ครับ ก็คือ T3ในปัจจุบัน ชื่อสโมสร “โดม เอฟซี” เราก็ไปคัดกับทีม แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ครับ รุ่นพี่ในทีมพาไปหาโค้ชครับ แล้วเขาก็บอกว่าประตูในทีมมีเยอะแล้ว เขาไม่เอาแล้ว ในตอนนั้นก็รู้สึกเฟลๆ นะครับ แต่ด้วยความที่เรามีความฝันตั้งแต่แรกคืออยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพครับ

เราก็ซ้อมกับทีมไปเรื่อยๆ ครับ แล้วความโชคดีคือประตูในทีมเริ่มมีทีมอื่นดึงตัวไป จนเหลือในทีมแค่ 2 คนครับ แล้วต้องส่งชื่อแข่ง 3 คน วันสุดท้ายของตลาดนักเตะ ผู้จัดการก็เดินมาหาผมแล้วก็ยื่นสัญญานักฟุตบอลให้ วันนั้นเป็นวันที่ผมดีใจที่สุดวันหนึ่งในชีวิตเลยครับ โทรฯ หาที่บ้านบอกว่าผมทำได้แล้ว

อยู่มาประมาณ 1 ปีครับ ช่วงนั้นสโมสรเป็นพันธมิตรกับ “สโมสรชัยนาท” พอดี แล้วมีรายการโค้กคัพ ก็เลยส่งผมกับเพื่อนไปที่สโมสรชัยนาท ก็ตกรอบแรกเหมือนเดิมครับ 5555 จากนั้นกลับมาที่โดมต่อครับ

ด้วยความที่เราเป็นประตูมือ 3 บวกกับตอนนั้นยังเด็กด้วยครับ เราก็เริ่มปล่อยตัว ซ้อมยังไงก็ไม่ได้เล่น ไม่ดูแลตัวเอง เจ็บบ่อย ทัศนคติเริ่มเปลี่ยน ไม่มีความพร้อม จนวันหนึ่งโอกาสมันเข้ามาครับ ผมได้เล่น 1 เกมกับ สโมสรจามจุรี และวันนั้นแพ้ครับ วันนั้นคือวันที่ผมตัดสินใจว่าผมอยากเลิกเล่นฟุตบอลครับ

แค่แนะนำตัวก็สนุกแล้ว ฉากชีวิตต่อไปหลังจากนี้ของ “โค้ชเปรม” จะเป็นยังไง ติดตามต่อในตอนที่ 2 ครับ รับรองได้ว่า สนุก และได้รับแรงบันดาลใจดีๆ แน่นอน.