นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ร่วมกับ ม.หอการค้าไทย แถลงความสำเร็จกิจกรรมเผยแพร่ความรู้และขยายผลเครือข่ายความสัมพันธ์ผู้ประกอบการในความร่วมมือกันพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ภายใต้โครงการดำเนินงานยกระดับผู้ประกอบการเฮลท์แอนด์เวลเนส เข้าสู่ระบบห่วงโซ่มูลค่าของโลก
ทั้งนี้ สสว. ได้ดำเนินการสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการเฮลท์แอนด์เวลเนส (Health & Wellness) เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยสอดคล้องกับแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอี ฉบับที่ 5 และแผนปฏิบัติการส่งเสริมเอสเอ็มอีได้ให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามาถเข้าถึงระบบห่วงโซ่มูลค่าของโลก (Global Value Chain) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับคลัสเตอร์ธุรกิจที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
“สสว. ยินดีส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเฮลท์แอนด์เวลเนสเข้าสู่ระบบห่วงโซ่มูลค่าของโลก ให้มีศักยภาพสามารถเชื่อมต่อกับห่วงโซ่มูลค่าของโลกและขยายเครือข่ายทางธุรกิจในระดับสากล ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ทาง สสว. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะสามารถเติบโตและต่อยอดธุรกิจของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และยินดีที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพต่อไปในอนาคต” นายวชิระ กล่าว
ด้าน นายกิตติพงษ์ สาครเสถียร ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสเป็นผู้รับนโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในโครงการยกระดับผู้ประกอบการเฮลท์แอนด์เวลเนส เข้าสู่ระบบห่วงโซ่มูลค่าของโลก ซึ่งเป็นโครงการที่ในเพื่อยกระดับและต่อยอดทางธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านการวิเคราะห์แนวโน้มทางธุรกิจและการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเฮลท์แอนด์เวลเนส สามารถก้าวสู่การเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ศึกษาแนวโน้มธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนสซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย จากข้อมูลของ Global Wellness Institute คาดการณ์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจด้านเวลเนสทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 63 เป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 68 แสดงถึงโอกาสในการขยายธุรกิจในระดับสากล และจากการเชื่อมต่อกับเครือข่ายในต่างประเทศ โครงการนี้ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 140 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการในโครงการนี้ และคาดหวังว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะสามารถเติบโตและต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างไม่หยุดยั้ง