เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 3 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 3 ธ.ค. โดยเปิดเผยถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ว่า ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ที่ถึงแม้จะคลี่คลายแล้วแต่ก็ยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติอีกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้าและประปา นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งเข้าแก้ไข โดยเฉพาะสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อที่จะให้ประชาชนสามารถสื่อสารได้ เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้มีพื้นที่กว้างขวาง และบ้านเรือนแต่ละหลังอยู่ห่างไกลกัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งต่อระบบโทรศัพท์ให้เรียบร้อยไม่เกินวันพรุ่งนี้

นายจิรายุ กล่าวต่อว่า จากการที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยา มีการแจ้งเตือนว่าตั้งแต่วันที่ 3-5  ธ.ค. จะเกิดคลื่นลมแรงที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และ อ่าวไทย ก็อาจจะไปซ้ำเติมปัญหาอุทกภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในอีกหลายจังหวัด ทั้งนี้เพื่อการบรรเทาสถานการณ์ปัญหาอุทกภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติได้หารือกัน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงสถานการณ์น้ำท่วมเท่านั้น และเดือน ม.ค. ก็จะเข้าสู่ช่วงภัยแล้ง นายกรัฐมนตรีจึงมองว่าควรให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศปช.) โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษา โดยมีหน้าที่แก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี

นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่า ขอให้ ศปช. เร่งปฏิบัติหน้าที่และใช้กลไกตามกฎหมายในการบริหาร ระดมความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนเพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ภัยพิบัติโดยเร็ว รวมถึงเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายภายหลังจากน้ำลด ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อทำการพิจารณางบประมาณ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชนต่อไป

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้ชี้แจงว่ายังมีบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่อีก 6 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ประชาชนได้รับผลกระทบถึง 664,173 ครัวเรือน โดยที่ประชุม ครม. ได้ขยายกรอบวงเงินทดลองจ่ายจากเดิมจังหวัดละ 20 ล้านบาท เพิ่มอีกจังหวัดละ 50 ล้านบาท และที่ประชุมยังมีการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ครัวเรือนละ 9,000 บาท ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. ซึ่งหลังจากนี้ แต่ละจังหวัดก็จะต้องเสนอเข้ามาว่าจะให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในด้านใด โดยยึดหลักมาตรฐานที่เคยทำไว้ในพื้นที่ภาคเหนือ