นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ธ.ค.67 ที่ทำเนียบรัฐบาลนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) นัดแรกในรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีวาระที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางที่สำคัญหลายประเด็น โดยเฉพาะการโอนภารกิจโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาระยะ(เฟส) ที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และสายสีเงิน สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กระทรวงคมนาคม

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการโอนภารกิจโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าว จะช่วยทำให้การบริหารจัดการรถไฟฟ้าภาพรวมมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ตลอดจนสามารถบูรณาการร่วมกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม. และสามารถดำเนินโครงการค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทได้อย่างสะดวกด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของสายสีเงิน เมื่อ รฟม. รับโอนมาแล้ว อาจต้องทบทวนผลการศึกษาใหม่ โดยต้องดำเนินการตามแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่2 (M-MAP 2) ที่จะให้สายสีเงินเชื่อมเข้าไปภายในอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. มีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 68 ด้วย

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ถูกจัดอยู่ใน M-MAP 2 ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มA2 เป็นเส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 72 โดยโครงการนี้ ขร. ระบุเงื่อนไขไว้ใน M-MAP 2 ว่า รถไฟฟ้าสายสีเงินจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเส้นทางเข้าไปเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ของ ทสภ.เท่านั้น หากหยุดอยู่ที่ธนาซิตี้ ซึ่งอยู่บริเวณริมถนนบางนา-ตราด ตามผลศึกษาของ กทม. อาจไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่มีแหล่งกำเนิดการเดินทาง ปริมาณผู้โดยสารจะน้อย และเมื่อมีการโอนสายสีเงินให้ รฟม.แล้ว ต้องเร่งเจรจากับ ทอท. เพื่อจะได้ออกแบบอาคารผู้โดยสารให้มีสถานีรถไฟฟ้ารองรับอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารต่อไป

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ ขร. จะเสนอที่ประชุม คจร. พิจารณาอนุมัติมอบให้ รฟม. ดำเนินการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนขนาดรองในพื้นที่บริเวณจตุจักรโดยรอบทั้งหมด เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อกันในทุกระบบการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มีความสะดวกสบายอย่างแท้จริง อาทิ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์สถานีขนส่งผู้โดยสารจตุจักร(หมอชิต 2) รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถโดยสารประจำทาง เพราะปัจจุบันการเดินทางยังไม่เชื่อมต่อกัน ซึ่งเบื้องต้นรถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็ก(แทรม) ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ.