ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา จากประสบการณ์หลากหลาย ทั้งในฐานะอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาด้านการเงินในหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สู่บทบาทผู้นำหญิงที่กำกับและดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การได้นำความรู้ความสามารถที่มีมาปรับใช้กับการบริหารงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ผ่านนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งปัจจุบันได้ขับเคลื่อนและบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรฯ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบทบาทสำคัญในการวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทาน ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการช่วยเหลือและฟื้นฟูประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วน

“เห็นได้ว่าในปีนี้การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานมีประสิทธิภาพสูงมาก ได้รับคำชมจากประชาชน พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเราได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ในหลายวิกฤติ มาร่วมวางแผนและลงมือปฏิบัติว่าแต่ละพื้นที่จะหน่วงน้ำยังไง จะผันน้ำออกไปทางไหน ลงพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ เพราะการบริหารจัดการน้ำไม่ได้อยู่แค่บนคอมพิวเตอร์ แต่เป็นศิลปะที่ต้องปรับใช้ตามสภาพแวดล้อมจริง อีกทั้งเร่งสำรวจความเสียหายในทันที เพื่อชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และเตรียมกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องเกษตรกรในเรื่องความสำคัญของการสร้างคันกั้นน้ำ อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนขนาดใหญ่ ที่จำเป็นต้องมีในลุ่มน้ำของแม่น้ำหลักแต่ละสาย โดยทางกระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันให้เป็นโครงการระดับรัฐบาล พร้อมสร้างเครือข่าย และความร่วมมือในการทำงานกับภาคประชาชน เพื่อที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่การเกษตร และเพิ่มกำลังในการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.นฤมล กล่าว

ปัจจุบัน ศ.ดร.นฤมล ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน เตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ การเก็บกักน้ำสำรองในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนให้มีปริมาณเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การศึกษาและออกแบบการสร้างอ่างเก็บน้ำและเขื่อนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ พร้อมนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบข้อมูลดิจิทัล เพื่อยกระดับให้กรมชลประทานเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการวางแผนและการบริหารจัดการน้ำที่แม่นยำและรวดเร็ว รวมถึงส่งเสริมการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการน้ำในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการบริโภค ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้พี่น้องเกษตรกร และประชาชนสามารถดำรงชีวิตและพึ่งพาทรัพยากรน้ำได้อย่างมั่นคงในระยะยาว โดยยืนอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลและความยั่งยืนในทุกมิติ..