“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอลโดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC ผู้รับจ้างขุดเจาะอุโมงค์ (คู่) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ (สถานีรัฐสภา-สถานีศรีย่าน-สถานีวชิรพยาบาล) ระยะทาง 4.8 กม. และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ–ผ่านฟ้า (สถานีหอสมุดแห่งชาติ-สถานีบางขุนพรหม-สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ระยะทาง 2.4 กม. ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
กำลังเร่งติดตั้งหัวเจาะที่ 3 เตรียมเดินเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่งไปทางทิศเหนือ (Northbound) เริ่มตั้งแต่สถานีหอสมุดแห่งชาติต้นเดือน ธ.ค.นี้ โดยจะขุดไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้แล้วเสร็จตามแผนงานเดือน ต.ค. 68
สำหรับ 2 หัวเจาะแรกการขุดเจาะราบรื่น ขุดเจาะทางวิ่งได้รวมเกือบ 4 กม. แล้ว โดยหัวเจาะที่ 1เดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ทางวิ่งไปทางทิศใต้ (Southbound) เริ่มต้นในพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 67 ขุดทะลุสถานีรัฐสภาเป็นสถานีแรก รวมระยะทางที่ขุดเจาะได้ประมาณ 2 กม.จากทั้งหมด 5.89 กม กำลังมุ่งหน้าไปสถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม และสิ้นสุดที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามแผนงานจะแล้วเสร็จเดือน ม.ค. 69
ส่วนหัวเจาะที่ 2 เริ่มขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่งไปทางทิศเหนือเมื่อต้นเดือน มิ.ย. 67 เริ่มต้นในพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก ขุดเจาะได้แล้วกว่า 1 กม. จากระยะทาง 3.49 กม. ตามแผนงานจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย. 68
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ มีระยะทางรวม 23.63 กม. เป็นโครงสร้างใต้ดิน 14.29 กม. และโครงสร้างยกระดับ 9.34 กม. มี 17 สถานี ใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี
ในส่วนของงานโครงสร้างใต้ดิน 14.29 กม. ต้องขุดอุโมงค์ทางวิ่งเป็นอุโมงค์คู่ด้วยความลึกเฉลี่ย 30-40 เมตร และสร้างสถานีใต้ดินสัญญาที่ 1-4 จากทั้งหมด 6 สัญญา ใช้หัวเจาะอุโมงค์รวม 7 หัว (สัญญาที่ 1 และ 2 ใช้หัวเจาะ 3 หัว, สัญญาที่ 3 ใช้ 2 หัว และสัญญาที่ 4 ใช้ 2 หัว)
ในจำนวน 17 สถานี สถานีหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งอยู่ใต้ถนนสามเสน หน้าหอสมุดแห่งชาติ มีความคืบหน้าการก่อสร้างสูงที่สุด 50.96% โครงสร้างสถานีเป็นรูปเป็นร่างมากแล้ว ทั้งผนังสถานี และบันไดสถานี มีรูปแบบเป็นชานชาลาข้าง พื้นที่จำกัดเพราะอยู่ใต้แหล่งโบราณสถาน มีชานชาลา 2 ข้างอยู่ด้านนอกตรงข้ามกัน และขนาบข้างรางรถไฟฟ้าด้านในที่อยู่ติดกันทั้ง 2 ราง
สำหรับงานขุดเจาะสัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ–ดาวคะนอง ระยะทาง 4.1 กม. บริษัทบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง มีแผนติดตั้งหัวเจาะเดือน ธ.ค. 67 และเริ่มขุดเจาะเดือน ม.ค. 68 ใช้เวลาขุดเจาะ 1 ปี แล้วเสร็จเดือน ม.ค. 69
ส่วนสัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ระยะทาง 3.1 กม. มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เอ็นดับเบิ้ลยูอาร์ เอ็มอาร์ที โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ตามแผนงานจะลงพื้นที่ขุดอุโมงค์เป็นสัญญาสุดท้าย จะเริ่มนำหัวเจาะลงติดตั้งประมาณเดือน พ.ค. 68 ใช้เวลาขุดเจาะประมาณ 1 ปี แล้วเสร็จเดือน ก.ย. 69
ทั้งนี้ภาพรวมการก่อสร้างทั้ง 6 สัญญา ณ สิ้นเดือน ต.ค. ได้ผลงาน 44.21% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดบริการปลายปี 71.
Photo Credit | ขอบคุณแหล่งข่าวและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย