เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เปิดแล้ว มหกรรม “โคแสนล้าน” ภายใต้โครงการส่งเสริมองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทย ณ ตลาดต้นสน จังหวัดมหาสารคาม จัดโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามล, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะกรรมการสมาชิกเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กว่า 1,000 คนเข้าร่วมงาน มุ่งสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน
นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรม “โคแสนล้าน” ว่ารัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญและเชื่อมั่นในความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีอยู่ทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 79,610 แห่ง มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคน นับเป็นกำลังหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้เป็นอย่างดี จึงสนับสนุนให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องด้วยการมุ่งเน้นให้กองทุนหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการลงทุนในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ของประชาชนในชุมชน มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการออมของประชาชน เพื่อความมั่นคงในรากฐานของชีวิตและครัวเรือน การจัดระบบสวัสดิภาพและสวัสดิการของกองทุนฯ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม โดยจัดสรรตั้งต้นให้กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทในระยะแรก และมีการเพิ่มทุนในระยะต่อมา พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง” ถือเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความยากจน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการให้โอกาสประชาชนบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เกิดความยั่งยืนและมั่นคง
ด้าน นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินโครงการ”โคแสนล้าน” ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “อาสาปศุสัตว์” ภายใต้โครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง เพื่อพัฒนาทักษะด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคให้มีคุณภาพ การปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของตลาด ให้กับ “อาสาสมัครชุมชน” ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 13 รุ่น รวม 1,500 คน ตั้งแต่ ต.ค. – พ.ย. 2567 เพื่อเป็นการพัฒนาและเพิ่มทักษะให้กับอาสาสมัครชุมชนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้รับองค์ความรู้และการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคให้มีคุณภาพ การปรับปรุงพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง โดยสมาชิกกองทุนฯ ที่ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตร และบัตรประจำตัวขึ้นทะเบียนอาสาปศุสัตว์จากปศุสัตว์จังหวัด เพื่อนำไปต่อยอดโอกาสการอบรมสัตวบาลอาสาต่อไป
“รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่า โครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง ครั้งนี้ จะสามารถสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน” นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ประธานคณะทำงานติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ “โคแสนล้าน”นำร่อง กล่าว
สำหรับการจัดงานมหกรรม “โคแสนล้าน” ที่ จ.มหาสารคาม ในครั้งนี้ได้มีการจัดกิจกรรม 2 วัน มีทั้งเสวนาสร้างการรับรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ“อนาคตการตลาดโคเนื้อ – เนื้อโคไทย” “โรงฆ่าสัตว์ (โค) กับความยั่งยืนของธุรกิจเขียงเนื้อชุมชน เพื่อวิถีคนพื้นถิ่น”รวมถึงเรื่อง “โครงการโคแสนล้าน นำร่อง โอกาสของคนอยากเลี้ยงโค” โดย ผู้แทน สทบ. /ผู้แทน ธ.ก.ส. /ผู้แทนกรมปศุสัตว์ /และผู้แทนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พร้อมทั้งหน่วยงานภาคีเครือข่ายภายในงานละได้รับเกียรติจาก ดร. ณัฐศศิ หนูอินทร์ เชฟ Butcher ชื่อดังสู่การเป็น Soft power เมืองไทย เจ้าของร้าน Lady Butcher โชว์เมนูสเต็กเนื้อ และเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็ก อาหารไทยรางวัลมิชลิน จากเมนูเนื้อสู่การเป็น Soft power เมืองไทย เมนูเนื้อสันนอก โคขุนอิสานย่างข้าวคั่ววสมุนไพรกับเเจ๋วปลาร้าหอม พร้อมมินิคอนเสิร์ต “พลอย สุภัคชญา” ลูกทุ่งสาว 4 ล้านวิวจากเวทีเดอะวอยซ์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้วิชาการจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ธนาคารออมสิน บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด และร้านอาหารเขียงเนื้อชุมชน รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เพื่อให้ผู้สนใจและสมาชิกกองทุนฯ ได้สร้างโอกาสและต่อยอดความรู้ รวมถึงพัฒนาการเลี้ยงโคให้สามารถรองรับตลาดได้อย่างยั่งยืนต่อไป