จากกรณีที่สภา กทม.มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติเรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้นั้น
น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ กฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายให้กทม.สามารถกำกับ ควบคุมสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจำกัดจำนวนต่อพื้นที่เลี้ยงก็เพื่อสุขภาวะที่ดีของสัตว์เป็นสำคัญ ขณะนี้สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. กำลังร่างขั้นตอนปฏิบัติงาน ระเบียบ และกำกับทุกอย่างให้พร้อมรองรับกฎหมาย
“โดยหลักจะมี 2 เรื่องใหญ่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องฝังชิป แต่เป็นการจำกัดจำนวน อย่าไปมองว่าเราจะเลี้ยงได้หรือไม่ได้ แต่การบอกว่าสัตว์เลี้ยงควรมีเท่าไหร่ต่อจำนวนพื้นที่หมายถึงสุขภาวะสัตว์และผู้เลี้ยงด้วย การควบคุมจำนวนเราไม่ได้บังคับย้อนหลัง เพียงแต่ขอให้มาลงทะเบียนภายหลังที่กฎหมายประกาศใช้”
ด้าน น.สพ.ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร ผอ.สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กล่าวเพิ่มว่า หลังประกาศราชกิจจาฯ แล้ว 360 วันถึงจะมีผลบังคับใช้ ระหว่างนี้ กทม.จะเร่งทำความเข้าใจกับทุกคน ซึ่งล่าสุดได้วางแผนแจ้งรายละเอียดขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เพราะไม่ใช่เพียงแค่ที่คลินิกสัตวแพทย์ของกทม.ทั้ง 8 แห่ง แต่สำนักงานเขตต้องช่วยให้ข้อมูลอีกทาง
ทั้งนี้ การลงทะเบียนและการฝังไมโครชิป กทม.ไม่ได้ทำเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของ แต่จะดำเนินการทำกับสัตว์จรด้วย ส่วนการแจ้งสัตว์เลี้ยงที่เกินจำนวนให้ดำเนินการภายใน 90 วัน หลังการประกาศ
น.สพ.ศิษฏพล กล่าวต่อว่า วางการลงทะเบียนและฝังชิปไว้ 2 แบบ คือ แบบ One Stop Service ที่คลินิกสัตวแพทย์ 8 แห่ง และสถานที่ออกหน่วย ผู้เลี้ยงนำสัตว์เลี้ยงมาฝังไมโครชิป ให้ข้อมูลและลงทะเบียนได้เลย อีกรูปแบบคือ ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฝังไมโครชิปตามมาตรฐานที่กทม.กำหนด ณ คลินิกเอกชนและนำแบบฟอร์มไปให้นายแพทย์ที่เป็นผู้ฝังไมโครชิปเซ็นรับรองมา จากนั้นนำใบรับรองมาจดทะเบียนกับกทม.ในจุดที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการดำเนินการจะชัดเจนขึ้นหลังมีประกาศบังคับใช้ ซึ่งย้ำว่าจะพยายามแจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างละเอียดต่อไป.