นางเอ็มมา มีโดวส์ ผู้ดูแลสัตว์ป่า และอาสาสมัครของ “ไวร์ส” (WIRES) ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือสัตว์ป่าของออสเตรเลีย กล่าวว่า อาจูนี ที่มีน้ำหนักประมาณเท่ากับลูกมะม่วง ถูกพบอยู่ริมถนนสายหนึ่งในเมืองซิดนีย์ หลังแม่ของมันถูกรถชนตาย
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีโดวส์ และอาสาสมัครคนอื่น ๆ ช่วยชีวิตโคอาลาที่ถูกรถชนได้ 40 ตัว แต่โคอาลาที่ตายจากกรณีข้างต้น คาดว่ามีจำนวนเยอะกว่านี้
โคอาลาเป็นสัตว์ขี้อาย และมีจำนวนมากจนนับได้ยาก ซึ่งออสเตรเลียมีโคอาลาอาศัยอยู่ระหว่าง 95,000–524,000 ตัว แม้จำนวนโคอาลาอาจลดลงจาก “หลายล้านตัว” ก่อนชาวยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ แต่มันเป็นเรื่องที่แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า การขยายตัวของเมือง, การถางป่า และการแพร่ระบาดของเชื้อคลาไมเดีย กำลังทำลายล้างประชากรของหนึ่งในสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของออสเตรเลีย
อนึ่ง รัฐบาลออสเตรเลีย ขึ้นบัญชีโคอาลาบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ให้เป็น “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์” อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2565 ขณะที่มีโดวส์ เชื่อว่าสัตว์ชนิดนี้มุ่งหน้าสู่การสูญพันธุ์ และกลัวว่าความพยายามในการฟื้นฟูประชากรโคอาลา อาจสายเกินไป
เชื้อคลาไมเดีย ถูกตรวจพบในโคอาลาเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น เชื้อแบคทีเรียนี้ทำลายประชากรโคอาลาในพื้นที่จนหมด
แม้ออสเตรเลียมีประชากรโคอาลาบางส่วนที่ปลอดเชื้อคลาไมเดีย แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์กังวลว่า พวกมันอาจหายไปในไม่ช้า เนื่องจากภัยคุกคามอื่น ๆ ดังเช่นอาจูนี ที่ปลอดเชื้อคลาไมเดีย แต่มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งส่งผลต่อปฏิกิริยาตอบสนองของมัน และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม
ด้าน พญ.แอนนาเบลล์ โอลส์สัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขภาพสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า หากไม่มีการคุ้มครองโคอาลาที่ดีกว่านี้ คนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสเจอโคอาลาตามธรรมชาติอีกต่อไป
“ออสเตรเลียเป็นประเทศเกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก รวมถึงมีสัตว์ป่าและดอกไม้สายพันธุ์พิเศษ ที่ต้องได้รับการอนุรักษ์” พญ.โอลส์สัน กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ออสเตรเลียมีอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูงที่สุดในโลก โดยพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศ ประมาณ 100 สายพันธุ์ สูญพันธุ์ในช่วง 123 ปีที่ผ่านมา
ชาวออสเตรเลียบางคน มุ่งเน้นความพยายามในการอนุรักษ์โคอาลา ไปที่การยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อคลาไมเดีย และดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อดังกล่าว ควบคู่กับการใช้มาตรการอื่น ๆ จนทำให้ประชากรโคอาลาเพิ่มขึ้นอีกครั้งได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม นายซามูเอล ฟิลลิปส์ นักวิจัยจากมหา วิทยาลัยซันไชน์โคสต์ กล่าวเตือนถึงความจำเป็นในการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ทำให้จำนวนโคอาลาลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกมัน.