ยังเป็นเรื่อง “การเมืองชุลมุน วุ่นวายนายตัวร้าย” ( แม้ว ) ไม่จบไม่สิ้น ทั้งเรื่องเหตุเกิดชั้น 14 รพ.ตำรวจ เรื่องครอบงำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เมื่อไปตั้ง “รัฐบาลมาม่า”กันในบ้านจันทร์ส่องหล้า เรื่องอดีตนายกฯแม้ว ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยกระทำการล้มล้างการปกครองฯ จบไปแล้วเมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย แต่ยังติดบ่วงครอบงำพรรค ซึ่งอาจผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ต้องสู้ต่อไปเพราะอาจนำไปสู่การยุบพรรค
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเป็นสัญญาณว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในบริบทของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลสามารถทำงานได้แบบต้องไม่กังวลอะไรในประเด็นนี้ มั่นใจในการทำหน้าที่ต่อไปในอนาคต เชื่อว่าประเด็นล้มล้างไม่น่าจะมีอะไรแล้ว
“ที่ร้องเรียน กกต.เรื่องการครอบงำพรรค เราเตรียมตัวชี้แจงแล้วว่าเป็นอย่างไร คงชี้แจงแนวทางเดิมว่า การอ้างว่า นายทักษิณมาสั่งเราชี้แจงได้ว่าไม่ใช่เรื่องการครอบงำ เป็นการปรึกษาหารือให้คำแนะนำที่ทำได้ทั่วไปทางการเมือง แต่คณะกรรมการบริหารพรรคยังมีอิสระในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ พรรคยังมีอิสระ และขณะนี้ยังไม่ได้มีหนังสือมาให้เราชี้แจงประเด็นอะไรแต่เพื่อไทยเตรียมพร้อมเสมอ และมั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้”
นายกฤช เอื้อวงศ์ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องที่ กกต.จะสอบเป็นเรื่องเกี่ยวกับการครอบงำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 28 และมาตรา 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากทาง กกต. แจ้งข้อกล่าวหามา เราก็มีหน้าที่ชี้แจงข้อกล่าวหา ไม่ได้กังวลอะไร ข้อกล่าวหาเรื่องของการครอบงำเป็นข้อกล่าวหาแบบกว้าง อยู่ที่การตีความ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกพรรคหากมีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง มีหลายคนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายมาดูแล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ไม่ได้มีความเป็นห่วงหรือกังวลอะไร ทุกคนทำหน้าที่ไปตามปกติ
ส่วนที่นายชูศักดิ์ ศิรินิลบอกว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติอาจเข้าข่ายเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินทำให้อาจจะไม่ต้องรอ 180 วัน เห็นว่า ต้องหารือกับประธานรัฐสภา และประธาน กมธ.ทุกคณะก่อน หากไม่ใช่กฎหมายการเงิน ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 คือต้องค้างไว้อีก 180 วัน จากวันที่สภาใดสภาหนึ่งมีการยับยั้ง หากต้องรอ 180 วัน และการทำประชามติต้องทำ 3 ครั้ง ใช้เวลาขั้นต่ำประมาณ 1,080 วันหรือ 2 ปีกับ 11 เดือน
“แต่ในขั้นตอนระหว่างนั้นอาจจะมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้ว และสสร.เข้ามาทำหน้าที่แล้วก็ต้องเดินหน้าไป เราต้องทำให้เร็วที่สุดเท่าที่กรอบกฎหมายจะกำหนดให้ทำได้ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภาก่อน เราต้องไปดูตรงนี้ด้วยว่าผ่านความเห็นชอบหรือไม่ จุดยืนของพรรคเพื่อไทยยังใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวผ่านประชามติ”
นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … กล่าวว่า เชื่อว่าฝั่งสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย เพราะเป็นประชามติ 2 ชั้น และจะถูกยับยั้งไว้ก่อน 180 วัน แล้วจึงหยิบมายืนยันใช้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกว่า เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินได้ ถ้าฝืนกระทำไปก็อาจสุ่มเสียงถูกร้องว่าออกกฎหมายโดยมิชอบได้
“จนถึงขณะนี้เป็นกรณีเป็นที่เด็ดขาดแล้วว่าร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ไม่ใช่ พ.ร.บ. เกี่ยวด้วยการเงินตามที่สภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังวุฒิสภา ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาและประธานคณะกมธ.สามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ จึงไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยอีก หากมีการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลถึงกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้” นายนิกร กล่าว
ในการเลือกตั้งนายก อบจ. อุดรธานี ฝั่งเพื่อไทยและฝั่งพรรคประชาชน ( ปชน.) สู้กันดุเดือด หวังชิงพื้นที่จังหวัดใหญ่ซึ่งถูกมองเป็น“เมืองหลวงเสื้อแดง” ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนเรื่อง “พรรคประชาชนเปิดหน้าชนพรรคเพื่อไทย” สำรวจระหว่างวันที่ 18-20 พ.ย.จากประชาชนทั่วประเทศ 1,310 หน่วยตัวอย่าง
เมื่อถามประชาชนถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิวาทะระหว่างพรรคประชาชน (ปชน.) และพรรคเพื่อไทยที่ผ่านสื่อในขณะนี้พบว่า 45.27% ระบุว่า เป็นแค่ละครทางการเมืองฉากหนึ่ง เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร 29.16% ระบุว่า เป็นแค่ความพยายามที่จะเพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น 17.10% ระบุว่า เป็นเรื่องจริงจังว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกันแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าพบว่า 36.72% ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย 32.37% ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ 17.71% ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้ และ 13.20% ระบุว่า เป็นไปได้มาก และเมื่อถามว่า เห็นว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่สามารถต่อสู้กับ ปชน.ได้ พบว่า 27.86% ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา 25.88% ระบุว่า เชื่อมาก 23.89% ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ 20.69% ระบุว่า ไม่เชื่อเลย
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ต่อคำกล่าวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ สส. เกิน 200 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า 34.20% ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย 27.25% ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ 24.58% ระบุว่า เป็นไปไม่ค่อยได้ 12.29% ระบุว่า เป็นไปได้มาก
สำหรับผลเลือกตั้งนายก อบจ.สุรินทร์ คะแนนผู้สมัครสองคนคือนางธัญพร มุ่งเจริญพร ภรรยานายปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย กับนายพรชัย มุ่งเจริญพร อดีตนายก อบจ.สุรินทร์ ตามติดกันแบบหายใจรดต้นคอ ผลัดกันนำผลัดกันตามไปเรื่อยๆ โค้งสุดท้ายของการนับนางธัญพรกลับมาแซงจนนำห่างเป็นหมื่นคะแนน และนับได้เสร็จทุกหน่วยเลือกตั้ง เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น.ของวันที่ 24 พ.ย. นางธัญพรชนะด้วยคะแนน 222, 756 คะแนน นายพรชัยได้ 211, 537 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 573,388 คน จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 1,083,319 คน คิดเป็น 52%
วันเดียวกันนี้ มีการเลือกตั้งนายก อบจ. เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และอุดรธานี สำหรับการการชิงเก้าอี้นายก อบจ.เพชรบุรี ครั้งนี้ มีผู้สมัครคือ นายชัยยะ อังกินันทน์ อดีตนายก อบจ.เพชรบุรี หมายเลข 1 และ นายกฤษณ์ แก้วอยู่ หมายเลข 2 อดีต สส.เพชรบุรี ซึ่งเคยสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) แต่ย้ายออกแล้ว
ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช แข่งกันระหว่าง น.ส.วาริน ชิณวงศ์ ที่พรรคภูมิใจไทยสนับสนุน นางกนกพร เดชเดโช อดีตนายก อบจ.เมืองคอน แม่ของนายชัยชนะ และนายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และมีอดีต สส.พลังประชารัฐ ( พปชร.) นครศรีธรรมราชอีก 2 คนลงแข่งขันในสนามนี้ด้วย คือ นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ซึ่งบางพื้นที่อาจมีปัญหาบ้างจากพายุเข้าเมื่อคืนวันที่ 23 พย.
ขณะที่ จ.อุดรธานี ที่แข่งขันเดือดที่สุด เพื่อไทยต้องการยึด“เมืองหลวงเสื้อแดง”กลับคืนมา โดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ลงหาเสียงเอง เพราะพรรคเพื่อไทยครองเก้าอี้ สส.อุดรธานีทุกเขตตั้งแต่ปี 2548 แต่เลือกตั้งปี 66 เสียพื้นที่ได้กับพรรคก้าวไกล 1 ที่นั่ง และไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาชน ( ปชน.) ก็ต้องการปักหลักการเมืองท้องถิ่นโดยคว้าชัยชนะเก้าอี้นายก อบจ.อุดรธานี ได้ระดมสรรพกำลังลงพื้นที่หาเสียงอย่างแข็งขัน
การแข่งขันนายก อบจ.อุดรธานี แข่งกันระหว่างนายศราวุธ เพชรพนมพร หรือป๊อบ จากพรรคเพื่อไทย และนายคณิศร ขุริรัง หรือทนายเบี้ยว จากพรรค ปชน. พรรคเพื่อไทยยึดครอง จ.อุดรธานี ทุกเขตตั้งแต่ปี 2548 แต่ปี 14 พฤษภาคม 2566 เสียพื้นที่ได้กับพรรคก้าวไกล 1 ที่นั่ง และไทยสร้างไทย 2 ที่นั่ง
ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.อย่างไม่เป็นทางการ ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่า นายชัยยะ อังกินันทน์หรือนายกปราย จะได้เก้าอี้นายก อบจ.เพชรบุรีอีกสมัย สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช ผลการนับคะแนนเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเวลา 19.00 น. น.ส.วารินหมายเลข 2 มีคะแนนนำอยู่ 154,587 คะแนน ส่วนนางกนกพร เบอร์หนึ่ง มีคะแนน 139,560 คะแนน ซึ่งมีแนวโน้มว่า น.ส.วารินจะชนะเลือกตั้ง เรียกว่าผลการเลือกตั้งหักปากกาเซียน และที่ จ.อุดรธานี เมื่อเวลา 19.15 น.ที่นับไป 24.8% นายศราวุธ เพชรพนมพร คะแนน 105,823 คะแนน นำทนายเบี้ยว นายคณิศร ขุริรัง จากพรรคประชาชน ( ปชน.) ซึ่งมีคะแนน 82,167 คะแนน มีการคาดการณ์ว่า เมื่อนับคะแนนเสร็จ นายศราวุธอาจนำหลักแสน จากนี้ก็ดูว่า แต่ละพรรควิเคราะห์ผลอย่างไร จุดแข็ง จุดอ่อนตรงไหน