นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องการฝากถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้เร่งดำเนินการ หลังจากดำรงตำแหน่ง คือ แก้ข้อสงสัยของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และประชาชนหลายๆคน  ซึ่งโจทย์ความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่แก้ไม่ยาก แค่ต้องการ “ผู้นำที่มีความกล้าหาญและธรรมาภิบาล” ซึ่งหลายคนมองว่า  เศรษฐกิจไทยติดกับดักเพราะอะไร ? เอสเอ็มอีไทยและประชาชนทำไมโผล่ไม่พ้นน้ำสักที ? เชื่อว่า ถ้าปัญหาเหล่านี้ได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะพ้นบ่วงปัญหาที่ติดกับดักมาอย่างยาวนานแน่นอน  

1.ดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

1.1 การเพิ่ม-ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  ที่เป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ย เช่น ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% ทางสถาบันการเงินของไทย ก็จะปรับเพิ่มขึ้นทันที 0.25% แต่เมื่อยามเฟดลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สถาบันการเงินของไทย จะปรับลดเพียง 0.1-0.25% เท่านั้น เรื่องนี้ต้องดูว่า ใครได้ประโยชน์ และใครเสียประโยชน์

1.2 ดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลและพิโก้-นาโนไฟแนนซ์ อยู่ในสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงสวนทางสินเชื่อธุรกิจ เอสเอ็มอีที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าไม่เกิน 15% ต่อปี โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยถูกผลักจากสินเชื่อธุรกิจที่มีดอกเบี้ยต่ำเข้าไปอยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคลและพิโก้-นาโนไฟแนนซ์ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 25-33% ต่อปี ด้วยข้อหาเสี่ยงสูง-ดอกเบี้ยต้องสูง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งปล่อยรายย่อยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน แต่คิดดอกเบี้ยผู้กู้เท่ากับผู้ให้บริการทางการเงิน ที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน (นอน แบงก์)  ไม่เป็นธรรมกับผู้กู้ และนอน แบงก์  ที่ไม่ได้รับบสย. แต่ธนาคารที่รับบสย. กลับคิดดอกเบี้ยเท่ากันเกิดแต้มต่อที่ไม่เป็นธรรม แต่หากคิดมุมกลับเอสเอ็มอีรายย่อยล้วนเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้าถึงโอกาสและการยกระดับขีดความสามารถเพื่อก้าวข้ามกับดักความยากจนที่ต้องมีแต้มต่อทางการเงิน และไม่ใช่บอกออกแบบพิโก้ นาโนไฟแนนซ์มาเพื่อปิดช่องว่างทางการเงินดีกว่าไปใช้นอกระบบ “ยิ่งจน ดอกเบี้ยแพง”

1.3 ดอกเบี้ยการพักชำระหนี้ การคำนวณดอกเบี้ยส่วนเพิ่มต้องคำนวณตามข้อเท็จจริง คือ คำนวณบนฐานค่างวดที่ถึงกำหนดชำระหนี้แล้วเท่านั้น ซึ่งค่างวดมีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจะคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินจะคำนวณคิดดดอกเบี้ยบนฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด (Loan Outstanding) เพราะการผ่อนค่างวดสถาบันการเงินได้จัดตารางการผ่อนชำระโดยดอกเบี้ยที่อยู่ในค่างวดและสัญญาเป็นดอกเบี้ยที่คำนวณจากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมดแล้ว ให้ทบทวนแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 244/1 ให้รวมกรณีพักชำระหนี้เข้าไปด้วย เพื่อป้องกันการเอาเปรียบในอนาคต

2.กลไกการแก้หนี้ทั้งระบบ ขาดเจ้าภาพและกลไกที่มีประสิทธิภาพและชัดเจน มีลักษณะการดำเนินการแบบอีเว้นท์  ควรมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเอสเอ็มอีและหนี้ครัวเรือนที่แก้ไขยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือนแต่ละกลุ่ม ไกล่เกลี่ย แผนฟื้นฟูและยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหนี้เสียซ้ำซ้อน เปิดโอกาสให้คืนเอสเอ็มอีที่แข็งแรงกลับสู่เศรษฐกิจไทย

3.มาตรการลดส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ลงครึ่งหนึ่ง หรือ เหลือ 0.23% จากปัจจุบันที่ 0.46% เพื่อให้สถาบันการเงินธนาคารนำมาช่วยลดหนี้ให้ประชาชนและเอสเอ็มอี ซึ่งมีประเด็นจากในอดีตช่วงโควิด-19 ที่เคยลดแต่ไม่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน อยากให้ทางธปท. และกระทรวงการคลัง กำหนดตัวชี้วัด (เคพีไอ) ให้ชัดเจนว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนได้เท่าไร เป้าหมายตรงไหนก่อน ไม่ใช่ว่าลดโดยไม่มีมาตรการไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ช่วยกลุ่มใด จำนวนเท่าไรแล้วค่อยมานำมาแลกกับมาตรการส่วนลดเอฟไอดีเอฟ  ตามผลงาน  ไม่เช่นนั้นมาตรการการลดเงิน เข้ากองทุนเอฟไอดีเอฟ  มีแต่ละสถาบันการเงินได้ประโยชน์ แต่เอสเอ็มอีไม่ได้ประโยชน์เหมือนเดิม

4.นิยามเอสเอ็มอี ความแตกต่างของนิยามที่ใช้ของภาครัฐและสถาบันการเงินต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกันเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และออกแบบนโยบาย มาตรการ ตัวชี้วัดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยใช้ Big Data เพิ่มความแม่นยำ ตรงเป้าอย่างมีประสิทธิภาพ

5.ค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ที่ต้องปรับเปลี่ยนในการมุ่งเป้าเอสเอ็มอีที่ขาดหลักประกันอย่างแท้จริง และสนับสนุนธนาคารรัฐ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐให้ได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำเพิ่มขึ้น เป็นต้น ส่วนสำคัญ คือ ต้องมีระบบการสร้างบ่มเพาะทักษะการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดีและความยั่งยืนต่อไป