จากข่าวคราวของคนดังรายหนึ่งประสบปัญหา“หูดับ-แก้วหูทะลุ” ซึ่งมีต้นเหตุสำคัญ คืออาการ “หูอื้อ” แต่กลับแก้ไม่ถูกวิธีจนนำไปสู่ปัญหาใหญ่ เกิดแก้วหูทะลุนั่นเอง เราจึงควรเรียนรู้สาเหตุและการป้องกัน “หูอื้อ” รวมถึงวิธีแก้ไขอาการที่ว่านี้อย่างถูกต้อง

“คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” มีคำแนะนำเกี่ยวกับอาการหูอื้อ ว่าเป็นภาวะการได้ยินเสียงที่ลดน้อยลงจากปกติ หรือมีเสียงในหู ซึ่งอาจเกิดได้กับหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน โดยหูชั้นนอกประกอบด้วยใบหูและรูหู หากมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันบริเวณนี้ อาทิ มีขี้หูหรือมีน้ำในหู จะทำให้หูอื้อได้ ถัดมาเป็นหูชั้นกลาง ประกอบด้วยแก้วหูและกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้น หากแก้วหูทะลุ มีการอักเสบหรือมีน้ำขังในหูอาจทำให้หูอื้อได้เช่นกัน และชั้นในสุดคือหูชั้นใน ประกอบด้วยอวัยวะรับฟังเสียงรูปก้นหอยและเส้นประสาทหู ถ้ามีการเสื่อมหรือบาดเจ็บ ก็ทำให้เกิดหูอื้อได้

สาเหตุของหูอื้อ

อาการหูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

1.หูอื้อจากส่วนนำเสียงบกพร่อง อาจเกิดจากการมีขี้หู น้ำในหู มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ข้างใน แล้วเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง หรือเกิดแก้วหูทะลุ

2.หูอื้อจากประสาทการรับฟังเสียง สังเกตได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น การได้ยินเสียงมักแย่ลง เพราะประสาทการรับฟังเสียงบกพร่องไปตามวัย

วิธีรักษาอาการ “หูอื้อ”

การรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ ดังนี้

@ ขี้หูอุดตัน : ไม่ควรแคะหู แต่อาจหยอดยาละลายขี้หู หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดหูด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

@ แรงดันอากาศ : ใช้การกลืนน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือเอามือบีบจมูกแล้วเบ่งลมออกเบาๆ ไม่ทำแรงเกินไป และไม่ควรทำในช่วงที่เป็นหวัดหรือมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ

@ โรคหวัด : การเป็นหวัดอาจทำให้เกิดจมูกอักเสบเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบ จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของหูชั้นกลางและโพรงจมูก

@ โรคบางชนิด : หูอื้ออาจเกิดจากโรคหรือภาวะของโรคบางอย่าง จึงควรรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการหูอื้อ

@ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด : คนไข้อาจต้องเปลี่ยนยาเพื่อลดผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดหูอื้อ

@ แก้วหูอักเสบหรือฉีกขาด : กรณีนี้ใช้การรักษาด้วยการผ่าตัด

อาการหูอื้อแบบไหน ควรรีบพบแพทย์

หากเกิดอาการหูอื้อเฉียบพลัน จู่ๆก็ไม่ได้ยินเสียง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ เวียนหัว มีน้ำออกจากหู ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ

สิ่งที่ห้ามทำเมื่อเกิดอาการหูอื้อ

1.ห้ามใช้ไม้แคะหู เพราะอาจทำให้ขี้หูถูกดันเข้าไปลึกขึ้น อุดตันมากขึ้น เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของหูชั้นนอกหรือเกิดแก้วหูทะลุ แต่หากมีขี้หูมาก ขี้หูเหนียว จนเกิดการอุดตันภายในรูหู ควรไปพบแพทย์เพื่อเอาออกอย่างถูกต้อง

2.ห้ามหยอดน้ำใส่หูแล้วเอียงออก เพราะจะยิ่งทำให้มีน้ำในหูมากขึ้น และอาจเกิดหูอักเสบติดเชื้อ หากต้องการใช้คอตตอนบัดเช็ดออก ควรเช็ดเฉพาะภายนอกใบหูเท่านั้น

“หูอื้อ” กับความเสี่ยงโรคอื่นๆ

หูอื้อเป็นอาการเบื้องต้นที่บ่งบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับช่องหู และอาจเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่างได้ อาทิ ช่องหูชั้นนอกตีบแคบ ขี้หูอุดตัน การติดเชื้อในช่องหู แก้วหูทะลุ หูน้ำหนวก โรคของเส้นประสาทรับเสียง โรคของสมอง มีเนื้องอก

วิธีดูแลสุขภาพหู

1.หลีกเลี่ยงการฟังเสียงดัง การใส่หูฟังนาน ๆ หากต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง

2.หลีกเลี่ยงการแคะหู ระวังไม่ให้น้ำเข้าหู หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระแทกที่ศีรษะหรือหู

3.หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่อาจเป็นพิษต่อหูชั้นใน

4.หากมีการติดเชื้อที่หูควรรีบรักษา

5.กิจวัตรประจำวันหลายอย่างอาจทำให้เราเสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อได้ง่าย แต่หากลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และรีบพบแพทย์เมื่อมีภาวะผิดปกติ จะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนจะเกิดอันตรายจนถึงขั้นสูญเสียการได้ยินไปตลอดกาล.