เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 พ.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ภรรยาของนายแพทย์บุญ อายุ 79 ปี ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ พร้อมด้วยบุตรสาว วัย 51 ปี ของนายแพทย์บุญ ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาต่างๆ โดยทั้ง 2 เป็นผู้ต้องหาในหมายจับข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เดินทางเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ โดยมี นายชำนาญ ชาดิษฐ์ ทนายความ ที่ห้องประชุม บก.น.1 ชั้น 3 อาคาร บช.น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ภรรยาของหมอบุญ สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีชมพูอ่อน สวมแว่นตาดำ ถือกระเป๋าสีน้ำตาล และบุตรสาว สวมเสื้อยืดสีเขียว สวมหมวกแก๊ปสีน้ำเงิน มีทนายและลูก ช่วยกันพยุงภรรยาของหมอบุญ ขึ้นมาพบตำรวจนั้น ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ทั้งภรรยาและลูกสาวของหมอบุญ ไม่ยอมตอบคำถามใดๆ
โดยนายชำนาญ ทนายความ กล่าวว่า ทางลูกความตนทั้งภรรยาและลูกสาวของหมอบุญ บอกว่า ถูกปลอมแปลงลายเซ็น โดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนทำ แต่มีการปลอมแล้วนำเอกสารพวกนี้ไปใช้กู้ยืมเงินตามที่ปรากฎเป็นข่าว ยืนยันว่า ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใคร แต่มาทราบตอนที่มีหมายศาลฟ้องมาเป็นระยะ ที่ตัวภรรยาหมอบุญ เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่า กรณีที่มีการกู้ยืมเงิน และค้ำประกันต่างๆ เป็นลายเซ็นปลอมทั้งหมด โดยตัวภรรยาของหมอบุญ ไม่เคยไปกู้ยืมเงินแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้เซ็นค้ำประกัน
ต้องเรียนสื่อมวลชนว่า ในช่วงที่มีการกู้ยืมเงินค้ำประกันตามที่ปรากฏเป็นข่าว ตัวภรรยาของหมอบุญ ส่วนใหญ่เดินทางอยู่ที่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ในคำฟ้องนั้น จะเซ็นแบบเป็นสำเนา ไม่ใช่ลายเซ็นจริง โดยต้นฉบับอยู่กับฝั่งผู้ให้กู้ และความต่างของลายเซ็นค่อนข้างเยอะ ซึ่งเรื่องการปลอมลายเซ็นนั้น ไม่ใช่จะเพิ่งมาพูด แต่มีการต่อสู้คดีทางแพ่งเรื่องนี้มานานแล้ว
รวมถึงมีการแจ้งความไว้ที่ บก.ปอศ. ไว้เมื่อช่วงประมาณเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ในทางคดีแพ่งได้ต่อสู้คดีว่าเป็นลายเซ็นปลอม และขอให้ศาลตรวจพิสูจน์ รวมถึงคดีอาญา ศาลมีการนัดพร้อมเพื่อให้นางจารุวรรณ ไปเซ็นเปรียบเทียบต้นฉบับที่อ้างว่ามีการค้ำประกัน และเซ็นเช็ก โดยให้คู่ความส่งต้นฉบับ และให้ภรรยาหมอบุญ เซ็นใหม่ พร้อมกับมีการนำตัวสัญญาในช่วงที่อ้างว่ามีการเซ็นกู้หรือค้ำ อยู่ระหว่างรอศาลนัด
เมื่อถามว่าอาจจะเป็นลายเซ็นหมอบุญหรือไม่ ทนายความ ตอบว่า อาจจะเป็นเช่นนั้น เพราะผู้ที่กู้ที่มีชื่ออยู่ในสัญญา ก็เป็นหมอบุญ รวมถึงภรรยาของหมอบุญ และหมอบุญ ก็มีการจดทะเบียนหย่ากันไปแล้ว โดยไม่ทราบว่าตั้งแต่ปีไหน
เมื่อถามถึงสาเหตุว่าทำไมถึงต้องมีการปลอมแปลงลายเซ็นคนในครอบครัว ทนายความ ตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกัน ส่วนในช่วงที่มีการปลอมแปลงลายเซ็น เป็นช่วงที่หย่าร้างกันไปแล้ว
ส่วนกรณีที่ภรรยาของหมอบุญ เดินทางไปต่างประเทศเป็นช่วงๆ ระหว่างปี 61-67 มีการเดินทางอยู่ตลอด และเกิดอ้างว่ามีการกู้และค้ำ จนถูกฟ้อง และตรวจสอบว่ามีสัญญาฉบับไหนบ้าง มองเห็นชัดเจนเลยว่าเป็นลายเซ็นปลอม ก่อนตรวจสอบในเรื่องเวลาที่อ้างว่ามีการเซ็น และทั้ง 200 กว่าฉบับนั้นถูกปลอมทั้งหมด ทั้งนี้ทางภรรยาของหมอบุญ จะมีการเอาผิดทั้งหมอบุญ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการประกันตัว ต้องอยู่ที่ทางพนักงานสอบสวนจะอนุญาตหรือไม่.