สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับทหารระดับสูง ในกรุงมอสโก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือขีปนาวุธนำวิถีรุ่นล่าสุด “โอเรชนิก” (Oreshnik) ต่อไป โดยการทดสอบจะขึ้นอยู่กับ “รูปแบบของภัยคุกคาม” ที่รัสเซียกำลังเผชิญอยู่ในเวลานั้น
ทั้งนี้ รัสเซียทดสอบโอเรชนิก ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยเป็นการยิงไปที่เมืองดนิโปร ทางตอนกลางของยูเครน ซึ่งปูตินกล่าวว่า เป็นการตอบโต้ที่สหรัฐอนุญาตให้ยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธ “อะแทคซิมส์” ซึ่งมีพิสัยทำการระยะไกลประมาณ 300 กิโลเมตร และรัฐบาลเคียฟยังใช้ระบบขีปนาวุธพิสัยไกล “สตอร์ม ชาโดว์” ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีพิสัยทำการไกลประมาณ 250 กิโลเมตร
ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า สงครามในยูเครนกำลังยกระดับสู่การเป็น “การเผชิญหน้าระดับโลก” และไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการโจมตีตอบโต้โดยตรงไปยังฝ่ายตะวันตก ที่ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธแก่ยูเครน ซึ่งนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า “เป็นการส่งสารที่ครอบคลุม ชัดเจน และสมเหตุสมผล” จากผู้นำรัสเซีย และเชื่อมั่นว่า สหรัฐ “เข้าใจเป็นอย่างดี”
ข้อมูลเบื้องต้นที่รัสเซียเปิดเผย ระบุว่า ขีปนาวุธโอเรชนิก หรือ “ฮาเซล” สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ มีพิสัยทำการข้ามทวีประยะกลาง เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 10 มัค หรือ 10 เท่าของความเร็วเสียง หรือ 2.5-3 กิโลเมตรต่อวินาที สามารถเดินทางถึงยุโรปได้ภายใน 20 นาที และยังไม่มีระบบใดสามารถต้านทานได้
อนึ่ง สงครามในยูเครนซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 ทวีความรุนแรงขึ้นอีกระดับ จากการที่ยูเครนเริ่มใช้งานขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐและตะวันตก ในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ระยะทำการของขีปนาวุธเหล่านั้นยังน้อยกว่าระบบขีปนาวุธ “อิสกันเดอร์” ของรัสเซีย ที่เป็นอาวุธลักษณะใกล้เคียงกัน และมีพิสัยทำการไกลประมาณ 500 กิโลเมตร.
เครดิตภาพ : AFP