เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลกระทบกรณี กทม. ปรับการจราจรที่ซอยพร้อมจิต สุขุมวิท 39 เขตวัฒนา เพื่อแยกเลนจักรยานและคนเดิน โดยมีการตั้งเสาล้มลุก (Lane Block) ส่งผลให้เสียช่องจราจรไป 1 ช่องจราจร จนทำให้รถติดขัดนั้น ผู้สื่อข่าว “ชุมชนเมืองเดลินิวส์” จึงลงพื้นที่สำรวจภายในซอยดังกล่าว พร้อมจุดอื่นที่มีการดำเนินโครงการปรับปรุงเส้นทางจักรยานนำร่อง 4 ย่าน ได้แก่ ย่านสถานีพร้อมพงษ์ (ช่วงซอยพร้อมจิต ถึงลานหน้าอาคาร 39 Boulevard), ย่านสถานีสามยอด ย่านสถานีลาดพร้าว 71 (ช่วงจากแยกซอยลาดพร้าว 71 ถึงทางข้ามประดิษฐ์มนูธรรม) และย่านสถานีท่าพระ (ช่วงจากเพชรเกษม19-ศาลเจ้าพ่อไฟ)

จากการสำรวจพบว่า ซอยพร้อมจิต สุขุมวิท 39 เป็นถนน 2 เลนสวนกัน แต่หากดูตั้งแต่ปากซอยเข้ามาถนนก็มีความคับแคบ อีกทั้งพื้นที่ถนนขรุขระ ไม่เรียบ หากมีการปั่นจักรยานก็อาจเกิดอันตรายได้ อีกทั้งภายในซอยดังกล่าว ยังเป็นซอยลัด สามารถเลี้ยวซ้าย-ขวาไปออกถนนสุขุมวิท 33 และถนนเพชรบุรี จึงทำให้ในซอยดังกล่าว มีรถยนต์วิ่งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากในอนาคตจะมีการปรับปรุงโดยการขีดสีตีเส้นแบ่งเป็นช่องสำหรับคนเดินและจักรยานในการปั่น ก็คงจะต้องป้องกันรถชนิดอื่นวิ่งในช่องทางดังกล่าว หรือจอดแช่ ส่งผลกีดขวางการจราจร

ขณะที่บริเวณย่านสถานีลาดพร้าว 71 มีการตั้งเสาล้มลุก แบ่งช่องไว้สำหรับจักรยานบนถนนลาดพร้าว ก่อนถึงแยกเข้าถนนประดิษฐ์มนูธรรม ระยะทางราว 200 เมตร แบ่งช่องถนนกับรถยนต์ ซึ่งก็จะมีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ วิ่งเข้ามาใช้ในช่องทางดังกล่าว

ส่วนย่านสถานีท่าพระ ดำเนินการขีดสีตีเส้นภายในเพชรเกษม 19 จนถึงศาลเจ้าพ่อไฟ เนื่องจากซอยดังกล่าว เป็นซอยที่มีลักษณะแคบ รถวิ่งสวนเลน และมีชุมชนรวมถึงโรงเรียน เมื่อมีการตีเส้นแบ่งช่องไว้ ก็ทำให้นักเรียนและชาวชุมชนเดินไปง่ายขึ้น อีกทั้งท้ายซอยยังมีท่าลงเรือ เพื่อนั่งล่องเรือชมคลองภาษีเจริญ ก็ทำให้นักท่องเที่ยวเดินสะดวกขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า สำหรับการดำเนินการดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการปรับปรุงเส้นทางจักรยานนำร่อง 4 ย่าน โดยสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย จะทำการทดลองในระยะสั้นเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค และประเมินผลที่เกิดขึ้นร่วมกัน ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงเส้นทางเพื่อใช้งานจริง โดยบางเส้นทางจะเป็นการติดตั้งเสาล้มลุกเพื่อกั้นช่องเลนจราจร ส่วนบางเส้นทางจะทำการขีดสีตีเส้นช่องทางใหม่ เพื่อทำเป็นช่องทางสำหรับการเดินเท้าและจักรยาน โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งในนโยบาย “เดินทางดี” เพื่อให้ กทม. เป็นเมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจรที่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางหลักและระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมได้อย่างยั่งยืน.