อย่างไรก็ตาม ในส่วนคดีหลักที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นคดีพิเศษ ของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีอีกประเด็นต้องจับตานั่นคือการขยายผลความผิดฐาน “ฟอกเงิน” หรือคดีพิเศษที่ 115/2567 ซึ่งเป็นคดีตั้งต้นคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีดำเนินคดีอาญา
“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามความคืบหน้ากับ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และโฆษกดีเอสไอ ถึงประเด็นตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยระบุ ดีเอสไอเน้นตรวจสอบในห้วงปี 2563-2567 เนื่องจากหลักฐานและคำให้การของพยานสำคัญบ่งชี้ว่า ดิ ไอคอน เริ่มมีการตลาดอีกรูปแบบ ซึ่งตรงข้ามกับการจดทะเบียนตลาดแบบตรงในช่วงเวลานี้
ใครบ้าง เสี่ยงร่วมขบวนฟอกเงิน
พ.ต.ต.วรณัน ย้ำเส้นทางเงินและการครอบครองทรัพย์สินเป็นปมสำคัญที่ต้องสืบให้ชัดถึงตัวคนถือทรัพย์รายสุดท้าย ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนใกล้ชิด หรือเป็นคนที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้ต้องหา หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เพราะหากย้อนดูแล้วมีเจตนารู้หรือควรรู้ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการ หรือมีเหตุเข้าเงื่อนไข ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือ กฎหมายฟอกเงิน เช่น
รับทรัพย์สินมาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่มาจากการกระทำผิดมูลฐาน รับมาโดยเจตนาปกปิด ซ่อนเร้นอำพรางแหล่งที่มา และไม่สามารถอธิบายการได้มาอย่างสุจริต จะเข้าข่ายมีส่วนฟอกเงิน
สำหรับหลักการเรื่องทรัพย์สินและการตรวจสอบธุรกรรมของ ปปง. จะดูบุคคลเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ถ้ามีการโอน หรือรับโอนไปในลักษณะที่มีการปกปิด อาจต้องพิจารณาเป็นรายไป ดีเอสไอทำงานคู่กับปปง. มีการส่งรายการทรัพย์ที่ยึดอายัดได้ แต่หากมีบุคคลใดกระทำผิดทางอาญา จะเป็นหน้าที่ของดีเอสไอพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา
ทั้งนี้ ดีเอสไอจะเปิดโอกาสให้ชี้แจงการได้มาของทรัพย์สิน เพื่อให้อธิบายการได้มาของทรัพย์สินเป็นไปโดยชอบหรือไม่ หากพิจารณาคำชี้แจงแล้วไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน ต้องไปพิจารณาจะเข้าองค์ประกอบมาตรา 5 กฎหมายฟอกเงินหรือไม่เพื่อแจ้งข้อหาต่อไป
“หากดีเอสไอเรียกบุคคลให้เข้าชี้แจงการได้มาซึ่งทรัพย์สินแล้วเจ้าตัวไม่เข้ามาชี้แจง พนักงานสอบสวนจะพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ก็อาจต้องแจ้งรายงานไปปปง. เพื่อให้ดำเนินการทางแพ่งด้วย ส่วนทางอาญาต้องพิจารณาอีกครั้งว่าบุคคลมีเจตนาปกปิดซ่อนเร้นหรือไม่”
เนื่องจากหากไม่มาแสดงตน หรืออธิบายการได้มาซึ่งทรัพย์สินเพราะรู้อยู่แล้วว่ามาจากเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนจะพิจารณาเส้นทางการเงิน ถ้าเห็นเส้นทางการเงินเห็นชัดเจน แล้วยังไม่มาอธิบาย หรือมีพยานหลักฐานอื่นที่บ่งบอกชัดเจนว่ารู้ หรือควรรู้และยังช่วยปกปิด ดีเอสไอสามารถออกหมายเรียกได้
กวาดทรัพย์พิสูจน์ อาณาจักรที่ดิน ทรัพย์สินหรู
ตลอดเดือน ต.ค.ต่อเนื่อง พ.ย. ดีเอสไออายัดที่ดินของบริษัท ดิไอคอน และผู้เกี่ยวข้องรวม 94 แปลง เป็นที่ดินทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่ ประกอบด้วย ที่ดินเปล่า จำนวน 16 แปลง ดีเอสไอมีคำสั่งอายัดไว้ตั้งแต่ช่วงแรกรับเป็นคดีพิเศษ ต่อมาขยายผลตรวจสอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมอีก 78 แปลง ซึ่งเป็นที่ดินของผู้ต้องหาและผู้เกี่ยวข้อง
ขณะทรัพย์สินมีค่าอย่างนาฬิกาหรูหลายสิบเรือน สร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทอง กระเป๋าและรองเท้าแบรนด์เนม ทั้งหมดถูกนำส่งกองคดีฟอกเงินทางอาญา เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ รวมถึงพิสูจน์ข้อครหา “เก๊ยันกล่อง” ของนาฬิกาหรูที่ตรวจยึดมาก่อนหน้านี้ ก่อนสรุปรายงานส่ง ปปง. จัดการ
จากข้อมูลการร้องทุกข์คดีดิ ไอคอน ของตำรวจ ปัจจุบันพบมีผู้เสียหายแจ้งความแล้วกว่าหมื่นคน ความเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท ก่อนหน้านี้นอกจากดีเอสไอที่ยึดอายัดทรัพย์ไว้พิสูจน์
อีกด้านปปง.ก็มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ผู้ต้องหาไว้อีกส่วน รวมกว่า 300 ล้านบาท มีทั้งบัญชีเงินฝากและหุ้น ในส่วนนี้ปัจจุบัน ปปง. มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอรับคืนหรือชดใช้คืนในรายคดี “ดิ ไอคอน” แล้ว เพื่อเปิดโอกาสเฉลี่ยทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.67 ไปจนถึงวันที่ 17 ก.พ.68
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน