สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ว่า นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล กล่าวถึงการตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หรือศาลอาญาโลก ร่วมกับนายโยอาฟ กัลลันต์ อดีต รมว.กลาโหม ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากสงครามในฉนวนกาซา ว่าไอซีซีเป็นสถาบัน “ที่มีจุดยืนต่อต้านยิวอย่างโจ่งแจ้ง”


ทั้งนี้ เนทันยาฮูยืนยันว่า มติดังกล่าวไม่อาจขัดขวางอิสราเอล ในการเดินหน้าปฏิบัติการทางทหาร เพื่อปกป้องประเทศต่อไป และอิสราเอล “ไม่มีทางก้มหัวให้กับทุกแรงกดดัน” พร้อมทั้งประณามการตั้งข้อกล่าวหาของไอซีซี “ไร้สาระและน่ารังเกียจที่สุด”


อนึ่ง นายคาริม ข่าน อัยการของไอซีซี กล่าวว่า อาชญากรรมซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งสองคนของรัฐบาลอิสราเอลเกี่ยวข้อง รวมถึง “การอดอยาก”, “การฆ่าโดยเจตนา” และ “การกวาดล้าง” หรือ “การฆาตกรรม” จากสงครามในฉนวนกาซา “อย่างน้อยตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 2566 จนถึงวันที่ 20 พ.ค. 2567” ซึ่งเป็นวันที่มีการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้มีการพิจารณาคำร้องขอออกหมายจับ


ด้านสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐออกแถลงการณ์ วิตกกังวลอย่างยิ่ง ต่อการที่ไอซีซีออกหมายจับเนทันยาฮูและกัลลันต์


อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาโลกอนุมัติในโอกาสเดียวกันนี้ ออกหมายจับ นายโมฮัมเหม็ด เดอีฟ ผู้นำกองพลน้อยอัล-กอสซัม ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มฮามาส ในข้อหาเดียวกับเนทันยาฮูและกัลลันต์ แต่อิสราเอลกล่าวว่า เดอีฟเสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพ ในฉนวนกาซา เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา


อนึ่ง การออกหมายจับของไอซีซี หรือศาลอาญาโลก “มีความหมายตามหลักการ” ว่าสมาชิกไอซีซี 124 ประเทศ “ควรจับกุม” เนทันยาฮู และกัลลันต์ หากบุคคลดังกล่าวเดินทางเข้าไปยังประเทศที่เป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ในการก่อตั้งไอซีซี


ทว่าไอซีซีไม่มีอำนาจบังคับใช้หมายจับ และน้อยครั้งมากที่ประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม อาทิ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มีหมายจับของไอซีซีติดตัวเช่นกัน จากคดีอาชญากรรมสงครามในยูเครน ทว่าปูตินเยือนมองโกเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกไอซีซี เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา.

เครดิตภาพ : AFP