จากผลกระทบกรณี กทม.ปรับการจราจรที่ซอยพร้อมจิต สุขุมวิท 39 เขตวัฒนา เพื่อแยกเลนจักรยานและคนเดิน ส่งผลให้เขตทางเสียไป 1 ช่องจราจร ทำให้รถติดขัดนั้น
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความต่อเนื่องมานาน อยากพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินได้ มีจักรยานเป็นทางเลือกในการเดินทางอีกแบบ โครงการนี้มีความร่วมมือจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ (Bicycle embassy) มีทูตจักรยานไปหลายเมืองทั่วโลก เพื่อทดสอบว่าจะนำความรู้มาปรับปรุงและทดลองใช้อย่างไรเมื่อปี 1970 เนเธอร์แลนด์การจราจรติดขัดกว่ากรุงเทพฯ รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก ประชาชนจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้ความสำคัญกับรถให้น้อยลง และมีทางเลือกการเดินทางมากขึ้น นับจากนั้น 50 ปี ก็สามารถเปลี่ยนเมืองให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้นใช้ทางเดินเท้ามากขึ้น
สำหรับ กทม.ปรับปรุงมาหลายจุด มีการตีเส้นเป็นเลนจักรยาน มีการปรับทางเท้ากว่า 1,000 กิโลเมตร โครงการที่เกิดขึ้นในซอยสุขุมวิท 39 เป็น 1 ใน 4 จุดที่ปรับปรุง ซึ่งทดลองใช้ใน 4 ย่าน คือ สามยอด, ลาดพร้าว 71, จรัญสนิทวงศ์, ซอยสุขุมวิท 39 มองว่าเป็นชุมชนที่มีถนนสองเลน หากสามารถกั้นเลนจักรยานและให้คนเดินได้ ใช้วีลแชร์ ใช้รถเข็นเด็ก แต่การปรับปรุงอาจไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดว่าบริเวณนั้นเป็นทางผ่าน ไม่ได้มีผู้ใช้ถนนเฉพาะแถวนั้น ล่าสุด กทม.ได้ปรับปรุงแก้ไขให้สามารถใช้สัญจรได้ 2 ช่องจราจร
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวน้อมรับและขอโทษทุกคน ตนเป็นหัวหน้าหน่วยงานก็ต้องรับผิดเพียงผู้เดียว ไม่ต้องเป็นห่วง พร้อมระบุทุกอย่างเป็นความตั้งใจที่ดี เพื่อพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย กรุงเทพฯ ก็จะเป็นแบบเดิม รถติดหนักขึ้น การเปลี่ยนแปลงมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เป็นสิ่งดีและทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกิดขึ้น
“บางทีต้องคิดให้รอบคอบ คิดให้ละเอียด เรื่องนี้อาจจะพลาดในแง่ที่ยังไม่ได้ถามคนครบทุกกลุ่ม เช่น ผู้ที่สัญจรผ่านถนนก็ถามได้ยาก รวมถึงการทดลองการจราจรโดยใช้คอมพิวเตอร์ (traffic simulation) ซึ่งต้องทำให้ละเอียดมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในภาพรวมจะดีขึ้นเพราะมีการแบ่งช่องทางจราจรให้คนเดินเท้าได้ ขณะที่ภาพรวมการทดลองอีกสามจุดยังไม่พบปัญหา เชื่อว่าทีมงานทุกคนมาด้วยใจไม่มีใครมีผลประโยชน์และอยากเห็นกรุงเทพฯ ดีขึ้น.