เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 พ.ย. ที่ ห้องแถลงข่าว อาคารกระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ แถลงเกี่ยวกับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่โรงพยาบาลตำรวจ ขณะต้องโทษ หลังมีหนังสือเรียกให้ไปให้ข้อมูลเป็นครั้งที่ 2 ว่า วันนี้กระทรวงยุติธรรมอยากทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพราะเรามีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยในเรื่องของความสัมพันธ์และภาระที่ทางสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญให้ไปให้ถ้อยคำและข้อเท็จจริงกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวในระหว่างต้องโทษที่ รพ.ตำรวจ ตนต้องเรียนว่าทุกภาคส่วนมีหน้าที่ และตามกฎหมาย และตามความรับผิดชอบของฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องให้ความร่วมมือในสิ่งที่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการ 2 ชุด มีการตรวจสอบเรื่องนี้มายังกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการตำรวจ ได้มีหนังสือแจ้งให้กรมราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 66 ซึ่งในครั้งนั้น ได้มีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ในขณะนั้น) ได้ยกคณะไปชี้แจงและส่งมอบเอกสาร ขณะที่ครั้งที่ 2 ก็เป็นการดำเนินการของคณะกรรมาธิการตำรวจ มีการนัดหมายไปดูสถานที่ที่ รพ.ตำรวจ ถือว่าในเรื่องนี้ ได้มีการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมาธิการตำรวจ

ต่อมาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงและให้ส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ครั้งแรกในวันที่ 7 พ.ย. 67 จะมี ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และคนอื่น ๆ ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ ต่อมาคณะกรรมาธิการชุดนี้ก็มีหนังสือเชิญให้ รมว.ยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 10 ราย เข้าชี้แจงต่อ กมธ.ความมั่นคงฯ ในวันพรุ่งนี้ 22 พ.ย. 67 ช่วงเช้า

“ตรงนี้ขอเรียนว่ากระทรวงยุติธรรม มีความไม่สบายใจ ทั้งที่ความจริงเราอยากให้ความร่วมมือเต็มที่กับคณะกรรมาธิการชุดนี้ แต่เมื่อเราพิจารณาอำนาจหน้าที่กรอบกฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ข้อบังคับกฎหมายการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ระเบียบการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร กรมราชทัณฑ์ จึงมีความเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ที่จะมาตรวจสอบหรือรวบรวมเรื่องราว หรือเชิญเจ้าหน้าที่เราไป ดังนั้น เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับหนังสือ จึงมีการเสนอตามลำดับชั้นในเรื่องความเห็นที่จะเชิญไปชี้แจงในวันพรุ่งนี้ ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ วานนี้ (20 พ.ย.) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ไปราชการ ทำให้รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่รักษาการ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 20 พ.ย. 67 กราบเรียนไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และถึงคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ทุกท่าน ถึงข้อกังวลในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และระเบียบการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร” นายสมบูรณ์ กล่าว

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ตนได้สอบถามไปยังกรมราชทัณฑ์ และขอสำเนาเอกสารมาพิจารณา จึงสรุปได้ดังนี้ ว่าสาเหตุที่กรมราชทัณฑ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ อันประกอบด้วย 3 ประการ คือ

ข้อ 1 รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า การที่คณะกรรมาธิการจะศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องใด ต้องเป็นเรื่องในอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว ซึ่งในส่วนของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ มีการระบุกรอบอำนาจหน้าที่โดยสรุปไว้ว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ช่องทางธรรมชาติ ช่องทางตามกฎหมายศุลกากร การเดินทางข้ามแดน การจัดการแรงงานข้ามแดน การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การแก้ปัญหาชายแดนไทย ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่กระทบต่อความมั่นคง การส่งเสริมสนับสนุนแก้ไขปัญหาดินแดนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเรื่องที่เชิญไปให้ข้อมูลนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่

ข้อ 2 การดำเนินการเรื่องนี้ ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า การดำเนินการของคณะกรรมาธิการ ต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อน หากมีเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับหลายคณะกรรมาธิการ ก็มีระเบียบกำหนดไว้โดยเฉพาะว่า ต้องรวมเป็นเรื่องเดียว โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้ชี้ว่าคณะกรรมาธิการใด จะเป็นประธานในการตรวจสอบ ดังนั้นกรณีนี้ที่ กมธ.ตำรวจ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ต่อให้จะเข้าอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ก็ต้องเอาไปรวมกัน จะแยกไม่ได้

ข้อ 3 ปัจจุบันมีองค์กรอิสระหลายองค์กรที่ทำการไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่ เช่น ป.ป.ช., สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีความเห็นว่า คณะ กมธ. ควรต้องคำนึงว่า ตอนนี้มีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอยู่แล้วด้วย

นายสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า หลายคนได้มีการโทรศัพท์มาสอบถามตน และบางส่วนมีการโทรศัพท์ไปสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าในวันพรุ่งนี้ที่มีกำหนดการให้เข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จะยังคงเดินทางไปหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ได้เรียนถามท่านรัฐมนตรีตามตรง แต่แท้จริงแล้วรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่องานในทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้ท่านก็ยังไม่ได้ให้คำตอบกับตนว่าพรุ่งนี้ท่านจะไปหรือไม่อย่างไร แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่รายอื่นของราชทัณฑ์เอง หรือของ รพ.ตำรวจ ขอให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละราย เราไม่ได้ไปบังคับว่าต้องไปหรือไม่ไป

ส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัยว่าหากในวันพรุ่งนี้ไม่เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จะเป็นข้ออ้างในเรื่องข้อกฎหมายเพื่อใช้ปกปิดในประเด็นใดหรือไม่นั้น นายสมบูรณ์ แจงว่า ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็กำลังดำเนินการอยู่ คือ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้มีการเรียกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปสอบถาม ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยจำนวนมาก จึงไม่มีสิ่งใดที่เราจะปกปิดได้แน่นอน

นายสมบูรณ์ ระบุด้วยว่า หนังสือเชิญจากคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้ถูกส่งมายัง รมว.ยุติธรรม และคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ เพื่อเชิญให้ข้อมูล ระบุวันที่ส่งเอกสารวันที่ 14 พ.ย. 67 และหนังสือมาถึงสำนักรัฐมนตรี วันที่ 15 พ.ย. 67 จึงเชื่อว่ากรมราชทัณฑ์ คงได้รับหนังสือประมาณวันที่ 15 พ.ย. 67 จึงทำให้เมื่อได้รับหนังสือแล้ว จะต้องมีการทำความเห็นไปตามขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะไปโต้แย้งหรือไม่เห็นพ้องด้วย มันเป็นเรื่องที่ข้าราชการต้องระมัดระวัง

เมื่อถามว่าที่ไม่ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ เป็นเพราะมีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธานกรรมาธิการหรือไม่ นายสมบูรณ์ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่ยอมรับว่าเมื่อมีหน่วยงานตรวจสอบ ก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา แต่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเป็นต้องมีการชี้แจงอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม ให้สัมภาษณ์ว่า ขอเอกสารอะไรจากกรมราชทัณฑ์ไปมักไม่ค่อยได้รับการตอบกลับนั้น นายสมบูรณ์ ระบุว่า ในส่วนนี้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ไปให้ข้อมูล แต่ กมธ. สามารถสอบถามระดับผู้บังคับบัญชาอีกครั้งได้ ส่วนที่มองว่าอาจเอื้อประโยชน์ นายทักษิณ หรือไม่นั้น ตนมองว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว จากนี้เป็นเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนค่ารักษาของ นายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 สูงถึงหลักล้านบาทนั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะได้รับมอบหมายเพียงการชี้แจงเรื่อง กมธ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น นอกจากนี้ ทราบว่าตัวแทนทางโรงพยาบาลตำรวจ มีรายชื่อเชิญไปเช่นกัน แต่ตนไม่ทราบรายละเอียด.