สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ว่า พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมสหรัฐ ยืนยันรายงานของสื่อหลายแห่งที่ระบุว่า สหรัฐเตรียมส่งมอบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้ยูเครน ว่าเป็นผลจากการที่กองทัพรัสเซียปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในสมรภูมิ ด้วยการไม่ใช้กำลังพลยานเกราะเป็นแนวหน้าอีกต่อไป แต่ใช้ทหารราบเคลื่อนที่เพื่อเปิดทางให้กับกำลังพลยานเกราะ
ดังนั้น ทหารยูเครนจึงจำเป็นต้องมีอาวุธเพิ่มเติม เพื่อชะลอการรุกคืบอย่างรวดเร็วของรัสเซีย โดยเฉพาะในสมรภูมิทางตะวันออกของประเทศ ที่สถานการณ์สู้รบรุนแรงที่สุด
ขณะที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลวอชิงตันอนุญาตอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามกับรัสเซียเปิดฉาก เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 ให้ยูเครนสามารถใช้ขีปนาวุธนำวิถี “อะแทคซิมส์” ซึ่งมีพิสัยทำการไกลสูงสุด 300 กิโลเมตร เพื่อโจมตีเป้าหมายทางทหารในรัสเซีย และเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินอีกหลายด้านให้แก่ยูเครน ซึ่งทำเนียบขาวกล่าวว่า รัฐบาลไบเดนต้องการสนับสนุนยูเครนให้มากที่สุด ก่อนการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลวอชิงตันชุดปัจจุบัน ก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างหนักกับยูเครนและพันธมิตรในยุโรป ว่ารัฐบาลเคียฟจะสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองหรือไม่ เมื่อทรัมป์รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐอีกครั้ง ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ซึ่งทรัมป์กล่าวมาตลอด ว่าต้องการยุติสงครามครั้งนี้ “ที่ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก”
ด้านหน่วยงานสิทธิมนุษยชนหลายแห่งพร้อมใจกันออกมาวิจารณ์ และประณามการที่สหรัฐเตรียมมอบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้ยูเครน ว่าหากมีการใช้งานจริง เข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ที่ยูเครนยังคงเป็นภาคี แม้สหรัฐไม่ได้ลงนามตั้งแต่แรกก็ตาม.
เครดิตภาพ : AFP