ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ลงวันที่ 19 พ.ย.2567 ระบุว่า ใบสำคัญฉบับนี้ออกให้ไว้เพื่อแสดงว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 205/2561 หมายเลขแดงที่ อท 79/2563 ระหว่าง บริษัท พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ พระเมธีสุทธิกร หรือพระราชอุปเสณาภรณ์ หรือพระมหาสังคม หรือสังคม ญาณวฑฺฒโน หรือนายสังคม สังฆะพัฒน์ ที่ 1 พระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือพระมหาเทิด หรือ เทอด ญาณวชิโร หรือนายเทอด วงศ์ชอุ่ม ที่ 2 นายทวิช สังข์อยู่ ที่ 3 จำเลย เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2567 คดีจึงถึงที่สุด
ทั้งนี้สำหรับคดีดังกล่าว อัยการโจทก์ยื่นฟ้องกรณีที่มีการทุจริตเงินงบฯ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในการจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา 10 ล้านบาทให้วัดสระเกศฯ จากงบฯปี 2557 ทั้งที่วัดสระเกศฯ ไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยอดีตพระทั้ง 2 รูป มีอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ได้ร่วมกันลงชื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีวัดสระเกศฯ โดยมีนายทวิช จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจ เมื่อปี 2558 ไปใช้ในกิจการอื่น ต่อมาโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1-2 เป็นพระสงฆ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์จึงมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 6 ปี 24 เดือน ปรับคนละ 168,000 บาท อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1-2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1-2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้อเท็จจริงที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเข้ามาใหม่ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้วโดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ถอนเงินออกจากบัญชีวัดสระเกศฯ จำนวน 10 ล้านบาท เป็นทรัพย์สินที่นายพนม ศรศิลป์ ผอ.พศ.ในขณะนั้น กับพวกรวม 4 คนได้มาจากการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณา จากคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ของจำเลยทั้งสาม ไม่ได้มีมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ทั้งเป็นการแก้ไขคำฟ้องในข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดมูลฐานที่เกิดจากการกระทำความผิดของ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ.คนก่อน กับพวกรวม 5 คน อันเป็นความผิดมูลฐานตามที่สอบสวนไว้เดิมนั้นเป็นคนละคนกับนายพนม ที่ร่วมกับพวกรวม 4 คนกระทำความผิดต่อหน้าที่ตำแหน่งราชการ ที่ขอแก้ฟ้อง ทั้งเงินที่โอนเข้าบัญชีก็เป็นเช็คคนละฉบับกัน เป็นงบฯจัดสรรให้คนละโครงการกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันและคนละปีงบฯ อันเป็นมูลเหตุที่สาระสำคัญของการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นเหตุการณ์นอกเหนือไปจากที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดมูลฐานตามคำฟ้องเดิม และเป็นสาระสำคัญแก่คดี ซึ่งต้องแถลงในฟ้องให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ทั้งไม่เป็นเรื่องที่เกี่ยวและสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามที่พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนมาแต่แรก ตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง แม้จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาภายหลัง ก็เป็นการไม่ชอบและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จากนั้นโจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กระทั่งศาลฏีกาได้พิพากษายืน ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น