“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ภายหลังจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีระบบราง (สทร.) และกระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานร่วมกันในการนำความรู้ แนวทางที่ได้เรียนรู้จากประเทศตุรกี ไปดำเนินการให้เกิดการผลิตขบวนรถไฟ และหัวรถจักรขึ้นในประเทศไทย ด้วยการจัดตั้งโรงงานผลิตขึ้นเองในไทย ทดแทนการสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศโดยเร็ว ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลให้โครงการรถไฟไทยทำ หรือการผลิตรถไฟโดยสารต้นแบบ ที่ได้ดำเนินการก่อนหน้านี้ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ไปต่อ
ล่าสุด “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ได้รับข้อมูลจากทางทีมโครงการรถไฟไทยทำว่า จากการหารือกับ รฟท. ในเบื้องต้น ยังมีการขยายผลโครงการนี้ต่อไป แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการขยายผลในรูปแบบใด ที่จะเกิดประโยชน์ที่สุด ซึ่งในส่วนของรถไฟไทยทำ “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” ถือเป็นตู้โดยสารต้นแบบคันแรกของไทย ตามโครงการ “ไทยเฟิร์ส” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ และลดนำเข้าเทคโนโลยี โดยขณะนี้ได้จัดทำ และทดสอบการเดินรถ รวมถึงระบบต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว 1 ตู้ พร้อมส่งมอบให้ รฟท. เพื่อเป็นทรัพย์สินของ รฟท. นำไปใช้ประโยชน์ในการเดินรถให้บริการประชาชนในเส้นทางต่างๆ ต่อไป ซึ่งจะมีการจัดขบวนปฐมฤกษ์ในเร็วๆ นี้
สำหรับรถไฟไทยทำ “สุดขอบฟ้า” ผ่านการทดสอบการเดินรถมากกว่า 5 พันกิโลเมตร (กม.) เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถต่อพ่วงกับขบวนรถได้ทุกขบวน รวมทั้งยังสามารถทำความเร็วได้เข้ากับทุกขบวนตั้งแต่ 80-120 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) สามารถปรับจูนความเร็วได้หลายระดับ ขบวนรถนี้ได้แรงบันดาลใจจากที่นั่งในเครื่องบินชั้นธุรกิจ และชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง มีความยาว 24 เมตร กว้าง 2.80 เมตร มีที่นั่ง 25 ที่ ประกอบด้วย ชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวให้บริการด้านความบันเทิง และสั่งอาหาร มีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง มีระบบห้องน้ำสุญญากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งทางขึ้นรถไฟที่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ
การผลิตรถไฟไทยทำ “สุดขอบฟ้า” ถือเป็นความสำเร็จ และพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยสามารถผลิตตู้โดยสารรถไฟด้วยตัวเองได้ และใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Contents) จากผู้ผลิตไทยประมาณ 44% ด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า นโยบายการผลิตรถไฟ และหัวรถจักรในไทย สามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งทางโครงการฯ พร้อมสนับสนุนนโยบายนายสุริยะ เพราะการผลิตรถไฟ หรือหัวรถจักรได้เอง จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการนำเข้ามาก อย่างไรก็ตาม การผลิตหัวรถจักรเองนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้ความรู้ และเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น (Advance) ดังนั้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนำความรู้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จมาพัฒนาต่อยอด เป็นเรื่องที่ดี แต่คาดว่าคงต้องใช้เวลากว่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งระหว่างนี้สิ่งใดที่ทำได้ก่อน ก็อยากให้สานต่อโครงการต่อ เพราะประเทศไทยยังต้องการตู้โดยสารอีกมาก
เบื้องต้นจากการหารือเรื่องการขยายผลโครงการฯ กับ รฟท. จะมี 2 รูปแบบ คือ 1.ขบวนรถสำหรับเชิงท่องเที่ยว และ 2. ขบวนรถสำหรับขนส่งผู้โดยสารระยะไกล ซึ่งหาก รฟท. ให้ดำเนินการผลิต ก็พร้อมทำทันที โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบ จนถึงขั้นตอนการผลิต ส่วนหัวรถจักรนั้น เชื่อว่าสามารถทำได้ ไม่เกินความสามารถคนไทย แต่ต้องทำในปริมาณที่มากพอ จึงจะคุ้มค่ากับการลงทุน.