เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น (CEA Khon Kaen) จังหวัดขอนแก่น นายศิริวัฒน์ พินิจพานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ และนายอภิชาติ สินธุมา นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมไมซ์ภาคอีสาน ร่วมกันแถลงข่าว “Isan Silk & Craft Trade โอกาสใหม่ของธุรกิจผ้าไหมและหัตถพาณิชย์อีสาน” โดยมีนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายสักก์สีห์ พลสันติกุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น นายธีรยุทธ์ ลีลาขจรกิจ ผู้อำนวยการ บริษัท แอดลิบ แมเนจเม้นท์ จำกัด ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานแถลงข่าว

จัดโดย สมาคมการค้าอุตสาหกรรมไมซ์ภาคอีสาน ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน และภาคีเครือข่ายจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขอนแก่น (CEA ขอนแก่น) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่นและภาคีเครือข่าว เตรียมจัดงาน ISAN Silk & Craft Trade (ISCT 2024) งานประชุมสัมมนา จับคู่ธุรกิจเพื่ออุตสาหกรรมผ้าไหมและสิ่งทออีสาน ภายใต้แนวคิด “เส้นทางไหมอีสานสู่เวทีการค้าโลก” ระหว่าง 28-30 พฤศจิกายน 2567 ที่ จังหวัดขอนแก่น”

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า การอบรมผู้ประกอบการเป็นส่วนหนึ่งที่ สสปน. ต้องการที่จะยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยนำเอาอุตสาหกรรมไมซ์มาพัฒนาเศรษฐกิจเชิงบวก ความเข้มแข็งของพื้นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเป็นหนึ่งในกลไกที่จะสร้างความสำเร็จ โดยในส่วนการอบรมจะมีหลายรูปแบบ

“ทีเส็บ จะให้การสนับสนุนด้านการอบรมให้มีการยกระดับในเชิงของความเข้าใจในการทำการตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำตลาดไปสู่ระดับโลกในขณะเดียวกันก็จะมีการอบรมในกรอบของการที่จะให้ทุกๆหน่วยได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อที่จะร่วมผลักดันเมืองให้เป็นเสียงเดียวกันในการพูดคุยกับกลุ่มลูกค้านานาชาติ ซึ่งความต้องการของตลาดเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้ซื้อและองค์ประกอบของผ้า หากสามารถกระจายให้ไปสู่ระบบของการใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ่ายไปสู่การเป็นเครื่องนุ่งห่มเป็นประจำวันได้ก็จะเป็นการเปิดตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง แทนที่จะเป็นผ้าไหมราคาแพงหรือใช้ได้เฉพาะกิจเฉพาะงานเพื่อที่จะขยายตลาดในส่วนนี้ โดยใช้วิธีการอบรม วิธีการสนับสนุนในเชิงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ”

ทั้งนี้ กิจกรรมพิเศษ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่จัดขึ้น ณ อาคารขอนแก่นอินโนเวชั้นเซ็นเตอร์ จะมีผู้ซื้อจากทั่วโลกมาร่วมฟังการนำเสนอพร้อมจับคู่ธุรกิจ (Business pitching)กับผู้ประกอบการผ้าไหมและสิ่งทออีสาน จำนวน 15 ราย ที่ได้รับการคัดเลือกและจัดทำ e-catalogue เป็นกรณีพิเศษ จาก CEA ขอนแก่น และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น คาดหมายมูลค่าการซื้อขายเบื้องต้นกว่า 150 ล้านบาท และยังจัดให้มีการประชุมสัมมนาด้านการผลิตและทิศทางการพัฒนาไหมไทย และ โอกาสผ้าไหมอีสานในตลาดรีเทลระดับโลก โดยผู้สนใจสามารถร่วมฟังสัมมนาโดยลงทะเบียนล่วงหน้า จำกัดจำนวนเพียง 50 ท่าน เท่านั้น

การจัดงาน ISAN Silk & Craft Trade โดยการสนับสนุนจาก สสปน. แสดงถึงความพร้อมของขอนแก่นสู่ศูนย์กลางการผลิตผ้าไหมคุณภาพสูง ส่งเสริมการเติบโตของผ้าไหมและสิ่งทออีสานเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีมูลค่ากว่า 234,962 ล้านบาท และเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าที่มีมูลค่าส่งออกกว่า 5,200 ล้านบาทในเดือน สิงหาคม 2567 ตลอดจน ผลักดันให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ผู้ส่งออกไหมรายใหญ่ของโลกที่มีการผลิตไหมกว่า 291 ตันในปี 2566