เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญ (Flagships) 9 ด้าน ประจำเดือน พ.ย. 2567 ว่า ในปี 2568 เราได้ตั้งเป้าในการขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญ 9 ด้าน โดยที่ประชุมวันนี้ ได้แบ่งผู้รับผิดชอบโครงการทั้ง 9 ด้าน พร้อมทั้งจัดทำ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับติดตาม และคณะทำงานขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญ กระทรวง พม. ประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินงานและติดตามผล
สำหรับพันธกิจ 9 ด้าน ได้กำหนดกรอบแนวคิดสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568–2569 ดังนี้ ด้านที่ 1 ยกระดับการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย และขยายผลศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ การพัฒนาความเป็นเลิศของศูนย์เด็กเล็ก (Excellence Center for Early Childhood Development) ที่เทศบาลมาบตาพุด พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อการกำกับติดตามการดูแลเด็กปฐมวัยด้วยระบบดิจิทัล ด้านที่ 2 ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ ขยายผลโครงการบริบาลคุ้มครองสิทธิให้ครอบคลุมทุกจังหวัด การพัฒนาแอปเพื่อการกำกับติดตามการดูแลผู้สูงอายุ ปรับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของศูนย์ฯ ทุกแห่ง ให้เอื้อต่อการเพิ่มพูนศักยภาพผู้สูงอายุ ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของประชากรตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปให้พร้อมเป็นผู้สูงอายุคุณภาพ
ด้านที่ 3 สร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง (คนจน คนพิการ ผู้สูงอายุ สตรี) และครอบครัวในนิคมสร้างตนเองทั้ง 25 แห่ง และสร้างวิสาหกิจชุมชนของกลุ่มเปราะบางในนิคมสร้างตนเอง เพื่อการสร้างอาชีพ และรายได้อย่างยั่งยืน ด้านที่ 4 พัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ ให้สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่คนพิการ สร้างพื้นที่แสดง และจำหน่ายสินค้า/บริการที่ผลิตโดยคนพิการ ทั้งในรูปแบบของพื้นที่ถาวร รถเคลื่อนที่ และผ่านระบบออนไลน์ และส่งเสริมผู้พิการที่มีความสามารถพิเศษให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตคนพิการ
ด้านที่ 5 สร้างระบบและกลไกการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยนำ พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการ พ.ศ. 2546 มาเป็นกรอบในการพัฒนา รวมถึงสร้างต้นแบบการจัดสวัสดิการสังคมร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง วัด มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ ด้านที่ 6 สร้างความเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีโลก ด้วยการนำพันธกรณีตามสนธิสัญญาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชากรกลุ่มเปราะบางและการพัฒนาทางสังคม มาขับเคลื่อนให้สัมฤทธิผล ด้านที่ 7 ปรับบทบาทในการจัดการต่อประเด็นท้าทายทางสังคม และการปฏิบัติตามนโยบายของ พม. ให้เป็นเชิงรุก ปรับเปลี่ยนการสื่อสาร แนวคิด และการปฏิบัตินโยบายเชิงรุกกับประชากรกลุ่มกรอบแนวคิดสำหรับปีงบฯ 2568-2569 และหน่วยงานต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภายในกระทรวงด้วย และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งด้านบุคลากร และโสตทัศนูปกรณ์ให้สามารถผลิดสื่อที่ประสิทธิภาพและทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตสื่อและการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย
ด้านที่ 8 สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาในมิติทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระหว่างผู้นำระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย และการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน พัฒนาหลักสูตรความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคนและสังคม ตลอดจนการจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ พัฒนาความรู้ ทักษะ และทัศนคติและความคิดของบุคลากรภายใน พม.ให้เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของกระทรวงอย่างเต็มศักยภาพด้วยความรับผิดชอบและเน้นการทำงานเชิงรุก
และ ด้านที่ 9 บูรณาการข้อมูลของหน่วยงานทั้งในสังกัด พม. และหน่วยงานภายนอกอย่างเป็นระบบ และเป็นปัจจุบัน เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลที่พร้อมใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงและรัฐบาล โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของระบบฐานข้อมูล อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายฯ เป็นประจำทุกเดือน เดือนละครั้ง เพื่อรับฟังความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ปัญหา อุปสรรค และร่วมกันหาแนวทางการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ ให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต