ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดยพันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ นำโดยนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. แถลงดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 2567 ณ ห้องประชุมพิพิธสมบัติ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ร่วมกับ สนค. กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นฯ ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องมือชี้วัดความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. และเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเสริมความมั่นคงในรายไตรมาส ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่น จชต.ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.29 ปรับเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 55.56 จากการปรับเพิ่มของความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจมาอยู่ที่ระดับ 56.81 จาก 56.17 และด้านสังคมมาอยู่ที่ระดับ 53.28 จาก 53.05

ขณะที่ด้านความมั่นคงปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 56.49 จาก 57.46 แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นทุกด้าน สาเหตุคาดว่ามาจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามพรมแดน ซึ่งตรงกับวันหยุดยาวของมาเลเซีย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาดและราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า ประชาชนในจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุดอยู่ที่ระดับ 61.14 จังหวัดที่มีความเชื่อมั่นโดยรวมรองลงมา ได้แก่จังหวัดสงขลา ระดับ 58.21 ยะลา 55.03 ปัตตานี ระดับ 55.00 และนราธิวาส อยู่ในระดับ 54.92 สำหรับผลสำรวจปัญหาโดยรวมของ จชต. ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเดิมเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ยกเว้นปัญหายาเสพติดที่ปรับตัวเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น โดยประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ปัญหาภาระค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอและปัญหายาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวขอบคุณสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ร่วมในการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่สะท้อนข้อเท็จจริงให้คนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ได้รับทราบสถานการณ์ความเชื่อมั่นจากข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญของประเทศ ที่จะบอกว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับ จชต. อย่างไร สำหรับความเชื่อมั่น ไตรมาส 3 ปี 67 กล่าวได้ว่า อยู่ในสถานะปานกลางถึงมาก มีผลอย่างยิ่งต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในพื้นที่และผู้ที่มีความสนใจทำธุรกิจในพื้นที่ นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังมีความสำคัญในเชิงนัยทางเศรษฐกิจ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า นโยบายต่างๆ ที่ทางรัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนนั้นเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง อาจไม่ทันใจใครบางคนบ้าง แต่ทิศทางที่ดำเนินการนั้นเป็นที่ทิศทางที่ครอบคลุมแล้ว

สำหรับในปี 2567 ศอ.บต. ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นอยู่ การเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน พัฒนาให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สำหรับวิธีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลจากประชาชนใน 7 กลุ่มอาชีพ จาก 5 จังหวัด (จ.สงขลา เฉพาะ 4 อำเภอ) รวม 44 อำเภอ 314 ตำบล 2,249 หมู่บ้าน เป็นจำนวน 31,473 คน ดำเนินการโดยเครือข่ายบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ ได้นำข้อมูลมาประมูลเป็นดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง