การใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวัยทำงาน ต้องตื่นแต่เช้ารีบเร่งออกไปทำงาน แล้วกลับบ้านดึกดื่น รับประทานอาหารเย็นแล้วก็เข้านอน เพื่อจะได้มีแรงตื่นไปทำงานในเช้าวันรุ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมที่กระตุ้นกรดในกระเพาะอาหารทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ง่าย “คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” บอกเล่าสาระความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและอาการของโรค พร้อมแนะนำวิธีง่ายๆในการป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวมาเยือน

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ หย่อนยาน หรืออาจเสื่อมสภาพ ทำให้ไม่สามารถกั้นน้ำย่อย กรด หรืออาหารต่าง ๆ ในกระเพาะไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางหน้าอก หรือแน่นหน้าอกได้ บางคนอาจรู้สึกจุกบริเวณคอ นอนราบไม่ได้ รวมถึงมีอาการเปรี้ยวและขมที่คอร่วมได้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มากเกินไป อาทิ การกินบุฟเฟ่ต์ อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะกินในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพื่อให้รู้สึกคุ้มค่า ทำให้กระเพาะขยายตัวมากขึ้น จนเกิดแรงดันสูง จึงมีแนวโน้มที่ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้

การป้องกันโรค

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เริ่มจากการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อแบ่งเบาการทำงานของกระเพาะอาหาร รวมถึงเลี่ยงอาหารมื้อหนัก เพื่อไม่ให้กระเพาะทำงานหนักจนเกินไป นอกจากนี้ หลังมื้ออาหาร ควรเว้นระยะเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้อาหารได้เคลื่อนตัวจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เพื่อดูดซึมต่อไป

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรกินในปริมาณมากๆ มี 3 ชนิดด้วยกัน

  1. อาหารที่มีไขมันสูง ทั้งของทอดของมันต่างๆ รวมถึงอาหารที่มีไขมัน เช่น นม เนย ชีส คุกกี้ เป็นต้น เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะใช้เวลาย่อยในกระเพาะนาน เมื่ออยู่ในกระเพาะนาน จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดกรดมากขึ้น และไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้
  2. อาหารที่ทำให้เกิดกรดและแก๊สในกระเพาะ อาทิ ของหมักดอง อาหารรสเค็มจัด เปรี้ยวจัด รวมถึงอาหารที่ทำจากถั่ว เพราะอาหารกลุ่มนี้จะไปเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร อาจส่งผลให้หูรูดมีช่องว่างเปิดออกมา ทำให้น้ำย่อยหรือกรดไหลย้อนขึ้นมา
  3. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง อาทิ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะไปกระตุ้นให้กรดหลั่งมากขึ้น ทำให้หูรูดปิดตัวผิดปกติได้.