สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่า การพุ่งสูงขึ้นของก๊าซมีเทนในพื้นที่ชุ่มน้ำ อาจเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลของนานาประเทศ ต้องลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล และอุตสาหกรรมเกษตรให้มากขึ้น
พื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ในรูปแบบของซากพืชที่ตายไปแล้ว ซึ่งจุลินทรีย์ในดินจะช่วยย่อยสลายอย่างช้า ๆ ขณะที่อุณหภูมิที่สูงขึ้น ได้เร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทน หลังฝนตกหนักได้ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำขยายตัว
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า การปล่อยก๊าซมีเทนจากพื้นที่ชุ่มน้ำจะเพิ่มขึ้น เมื่อสภาพอากาศอบอุ่นขึ้น อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2563-2565 ความเข้มข้นของมีเทนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นสูงสุด นับตั้งแต่เริ่มมีการวัดอย่างถูกต้อง เมื่อช่วงปี 2523
ผลการวิจัยเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ระบุว่า พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตร้อนชื้น เป็นสาเหตุหลักของการพุ่งสูงของก๊าซมีเทน และมีส่วนทำให้มีเทนพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 7 ล้านตันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เครื่องมือดาวเทียมเผยให้เห็นว่า เขตร้อนชื้นเป็นแหล่งที่มาของมีเทน ซึ่งเพิ่มขึ้นในปริมาณมหาศาล ด้านนักวิจัยพบว่า คองโก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แอมะซอน และบราซิลตอนใต้ มีส่วนทำให้พื้นที่เขตร้อนมีปริมาณน้ำฝนพุ่งสูงที่สุด
ข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ เมื่อเดือน มี.ค. 2566 แสดงให้เห็นว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพื้นที่ชุ่มน้ำรายปี ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 500,000 ตันต่อปี
มากไปกว่านั้น หากการปล่อยก๊าซมีเทนจากพื้นที่ชุ่มน้ำยังคงเพิ่มขึ้น นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส ฉบับปี 2558.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES