ซึ่งสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ถือว่าเป็นการจำลองได้ดีทีเดียว ที่ภาพการหาเสียงไม่ต่างจากการเลือกตั้ง สส. เลย มีทั้งผู้สมัครที่เป็นตัวแทนพรรคการเมืองโดยตรง หรือมีพรรคให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง มีการทุ่มเทระดมระดับแกนนำพรรคลงมาช่วยหาเสียงสนับสนุนกันอย่างหนักหน่วง

สนามเลือกตั้งนายก อบจ. ที่น่าจับตามากที่สุด หนีไม่พ้นสนามเลือกตั้งภาคอีสานอย่างจังหวัดอุดรธานี ดุเดือดเข้มข้น “นายใหญ่ทักษิณ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลุยเปิดเกมรุกบุกด้วยตัวเอง จัดทัพใหญ่ปราศรัยครั้งแรกจัดเต็มในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเต็มเหนี่ยว สนามนี้ใครจะแพ้จะชนะไม่รู้ แต่เรียกว่าทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ไม่มีใครยอมใคร “เสี่ยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ถึงกับต้องบินกลับมาจากสหรัฐอเมริกา

แน่นอนว่าสนามเลือกตั้งจังหวัดอุบลราชธานีน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นจังหวัดใหญ่ และในทางการเมืองถือว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทยเช่นเคย เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการแบ่งเก้าอี้ สส. จากพรรคอื่นเข้ามาปะปน พรรคการเมือง 3 ค่ายใหญ่ “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน-พรรคเพื่อไทรวมพลัง” ส่งผู้สมัครลงชิงครบ

โดยเจ้าของตำแหน่งเดิม “กานต์ กัลป์ตินันท์” อดีตนายก อบจ. สมัยที่แล้ว เป็นน้องชายของ “เกรียง กัลป์ตินันท์” อดีต รมช.มหาดไทย ลงในนามพรรคเพื่อไทย ส่วนคู่แข่ง “สิทธิพล เลาหะวนิช” อดีตรองนายก อบจ. สมัยที่แล้ว กลับมาลงแข่งขันกันเองในนามพรรคประชาชน และที่น่าจับตามอง คือ “จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล” เจ้าแม่โรงแป้งมัน ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทรวมพลัง ลงสมัคร สส. ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 จนได้ที่นั่งในสภาถึง 2 ที่นั่ง และถือเป็นการล้มยักษ์ในสนามระดับประเทศ อย่าง “เสี่ยกุ่ย” ชูวิทย์ (กุ่ย) พิทักษ์พรพัลลภ อดีต สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยหลายสมัย และไม่เคยแพ้ใครมาก่อน

แต่ในแวดวงการเมืองรู้ดีว่า “เจ้าแม่โรงแป้งมัน” นอกจากสนับสนุนพรรคเพื่อไทรวมพลัง และยังแตะมือกับ “กลุ่มเนวิน” เนวิน ชิดชอบ แห่งพรรคภูมิใจไทย และไทยสร้างไทย ในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้มีพื้นที่อยู่ในมือจาก สส. ถึง 6 เขต ซึ่งมากกว่า “กานต์ กัลป์ตินันท์” ที่มี สส. ให้การสนับสนุนอยู่เพียง 5 เขต จึงเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่ทำให้อดีตนายก อบจ. อย่างนายกานต์ มองข้ามไม่ได้ เพราะผู้สมัครรายนี้ถือเป็นคู่แข่งที่ไม่ธรรมดา และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนจะเปิดฉากสนามเลือกท้องถิ่นชุดใหญ่ทั่วประเทศ 1 ก.พ. ปีหน้า ได้ภาพการเชือดเฉือนกันในสนามเล็กทั้งฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายค้าน หรือจะการต่อสู้ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกันเองอย่างพรรคภูมิใจกับพรรคเพื่อไทย ที่กำลังจะสยายปีกเข้ามาคุมสนามระดับจังหวัด ถือเป็นการสร้างฐานเสียงสำคัญในทางการเมือง ที่พรรคใหญ่ต่างก็ต้องการแย่งชิง รักษาพื้นที่และรุกคืบเข้ามา จึงต้องจับตา เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ดุเดือดแพ้ไม่ได้ มีผลถึงสนามเลือกตั้งใหญ่ จึงได้เห็นการวัดพลังบารมีความขลังของบรรดาพรรคใหญ่ ใครจะแน่กว่ากัน เรียกได้ว่าแทบละสายตาไม่ได้เลยทีเดียว.