นาทีนี้สนามเลือกตั้งที่ถูกจับตามอง หนีไม่พ้น”นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) อุดรธานี “ ซึ่งเป็นการวัดความนิยมระหว่าง”พรรคเพื่อไทย(พท.) “ แกนนำรัฐบาล กับ “พรรคประชาชน (ปชน.)แกนนำพรรคฝ่ายค้าน โดยจะมีการหย่อนบัตรในวันที่ 24 พ.ย. แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ดูเหมือนไม่มีใครยอมใคร เพราะบุคคลที่ถือเป็นแม่เหล็กของทั้งสองพรรคต่างลงพื้นที่ช่วยหาเสียงอย่างเต็มที่ กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้ง “นายทักษิณ ชินวัตร“ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท. ) ซึ่งถือผ่านมา พรรคภายใต้สังกัดก็ยึดพื้นที่นี้มาตลอด และ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ “ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ( ก.ก. ) ซึ่งแม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ในฐานะผู้ช่วยสส. ถึงกลับลงทุนบินกลับมาจากสหรัฐฯ เพื่อมาช่วยหาเสียงตั้งครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาพรรคสีส้มประสบความล้มเหลว ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมาตลอด เลยหวังจะคว้าชัยในการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นจ.อุดรธานี ซึ่งถูกยกให้เป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง แต่”นายพิธา”โต้กลับชี้ว่า เป็นพื้นที่ของคนรักประชาธิปไตยก็ตาม
โดยพรรคพท.ส่ง”ป๊อป” ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรธานี ลงสมัคร ส่วนพรรคปชน.ส่งทนายแห้ว” คณิศร ขุริรัง“ลงสมัคร ซึ่งกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “นายทักษิณ“ ได้ลงไปหาเสียงและทิ้งบอมบ์ไว้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องพรรคก.ก. กลัวแพ้ ทำให้”นายพิธา”ลงทุนบินกลับมาจากสหรัฐฯมาหาเสียงด้วยตนเอง โดย”นายพิธา”กล่าวถึงการปราศรัยของนายทักษิณ ที่พาดพิงมาถึงตนเองว่า ไม่ได้คิดว่ามีสาระอะไรมาก ต้องพยายามดูผลประโยชน์ของคนอุดรเป็นสำคัญ อย่างเรื่องที่บอกว่าต้องบินกลับมาเพราะกลัวแพ้ นายพิธายืนยันว่านักการเมือง นักเลือกตั้ง ไม่มีกลัวแพ้หรอก เพราะแพ้มาเยอะ ชนะมาก็แยะ ซึ่งสนาม อบจ.ก็อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลง มีปัจจัยหลายอย่าง
ส่วนกรณีนายทักษิณ พาดพิงถึงประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ก็ขอย้อนให้ประชาชนกลับไปดูว่าตอนเลือกตั้ง แต่ละพรรคพูดอะไรไปบ้าง เรื่อง 112 จนถึงวันนี้ เราถูกยุบไปแล้ว ยืนยันว่าที่เราทำไม่มีเจตนายกเลิก หรือทำให้คนเข้าใจผิด แต่เราต้องการปฏิรูปประเทศ รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้คงอยู่กับประเทศไทย เพราะฉะนั้น ความพยายามจะสาดโคลนมาก็ไม่ได้เป็นความจริง จนถึงทุกวันนี้
น่าสังเกตว่า”นายพิธา”โต้กลับ”นายทักษิณ”ในทุกประเด็น ซึ่งก่อนหน้านี้มักไม่เคยเห็น หรือเป็นเพราะผลโพลหลายสำนักที่ผ่านมาพบว่า คะแนนนิยมพรรคปชน. ลดลง รวมทั้งความนิยมของ ”เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อ นั่งเก้าอี้หัวหน้าปชน. ก็ตกต่ำอย่างน่าใจหาย ซึ่งส่วนหนึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่า เป็นเพราะแกนนำพรรคฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลไม่เต็มที่โดยเฉพาะกรณีเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นที่พักรักษาตัวของนายทักษิณ จึงทำให้พรรคปชน.ต้องปรับบทบาทใหม่ เล่นบทตาต่อตา ฟันต่อฟัน
เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ จ.อุดรธานี แกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคปชน. ร่วมเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี โดยมีการเปิดเวทีปราศรัยในพื้นที่ 3 อำเภอ ทั้งที่อ.บ้านผือ ในช่วงเช้า อ.หนองหาน ในช่วงบ่าย และที่ อ.เมือง ในช่วงค่ำ โดยแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่ร่วมการปราศรัยในวันนี้ ต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบายพรรคปชน. สำหรับการเลือกตั้ง อบจ.อุดรธานี โดยเฉพาะนโยบาย 6 ด่วนที่จะทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี
ด้านนายพิธา ยังกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคพท.หาเสียงเหมือนตัวเองเป็นฝ่ายค้าน อบจ. คนเก่าเป็นมา 12 ปีเพิ่งมาบอกว่าจะทำน้ำประปาสะอาด แปลว่า 12 ปีที่ผ่านมาไม่สะอาดใช่หรือไม่บอกว่าจะจัดการปัญหายาเสพติด แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาเจ้าพ่อยาเสพติด ทุนจีนสีเทาเมื่อปีก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องตั๋วตำรวจพท. ตราบใดที่ยังมียาเสพติดจากต่างประเทศแล้วยังมีตั๋วตำรวจยาเสพติดก็แก้ไม่ได้ เป็นรัฐบาลมา 14 เดือนราคายาบ้ายังเหมือนเดิม ตั๋วตำรวจยังมีหรือไม่ ขอให้ตอบให้กระจ่างด้วย
นายพิธา กล่าวต่อไปว่า มีคนกล่าวว่าอุดรธานีเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง แต่สำหรับตนแล้วคนอุดรธานี ไม่มีเจ้าของ อุดรธานีเป็นเมืองหลวงของประชาธิปไตยซึ่งมีหลายเฉด บางคนเลือกพรรคพท. บางคนเลือกพรรคก.ก. บางคนก็เลือกพรรคไทยสร้างไทย(ทสท. ) ดังนั้น แม้การแข่งขันครั้งนี้เรามั่นใจแต่ก็ไม่ประมาท เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติ ประชาชนอยู่ต่างประเทศหรือต่างจังหวัดกลับมาลงคะแนนไม่ได้แต่ตนก็ขอให้ทุกคนออกมาเลือกตั้งกันให้มากที่สุดและขอสื่อสารไปถึงชาวอุดรธานีที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศขอให้ช่วยพรรคปชน.บอกกลับมาที่ครอบครัว ถ้าอยากให้คนอุดรธานี มีงานทำ มีสาธารณสุขที่ดีมีการคมนาคมที่ดี จะได้กลับมาบ้านเสียที ส่งข้อความกลับมาให้ครอบครัวที่อุดรธานี ให้ไปเลือกตั้งเยอะๆ
ด้าน“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ เรื่อง “นายก อบจ. กับการทำงานท้องถิ่น” ระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย. 2567 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,039 คน ปรากฏผลดังนี้เมื่อถามถึง การสนใจติดตามข่าวเลือกตั้ง นายก อบจ. พบว่า สนใจร้อยละ 71.44 ไม่สนใจร้อยละ 28.56 2.เหตุผลที่ประชาชนใช้ตัดสินใจเลือกผู้สมัครนายก อบจ. อันดับ 1 ชอบผู้สมัคร ภาพลักษณ์ ประวัติ นิสัย ร้อยละ 56.83 อันดับ 2 มุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมทำงาน ร้อยละ 49.25 อันดับ 3 ชอบพรรคที่สนับสนุน ชอบนโยบาย ร้อยละ 41.49 อันดับ 4 มีประสบการณ์ มีผลงาน ร้อยละ 39.57 อันดับ 5 เป็นคนรุ่นใหม่หน้าใหม่ ร้อยละ 22.96 โพลหนุน”คนเก่า”
3. เรื่องในท้องถิ่นที่อยากให้นายก อบจ. พัฒนา ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 พัฒนาไฟฟ้า ประปา ถนน ร้อยละ 62.02 อันดับ 2 เศรษฐกิจ รายได้ คุณภาพชีวิต ร้อยละ 60.80 อันดับ 3 แก้ปัญหาอาชญากรรมและอบายมุข ร้อยละ 53.89 อันดับ 4 สาธารณสุขและการรักษาพยาบาล ร้อยละ 46.59 อันดับ 5 ป่าไม้ แหล่งน้ำ เกษตรกรรม ร้อยละ 43.94 4. การตัดสินใจเลือก นายก อบจ. ในพื้นที่ ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 เลือกผู้สมัครคนเก่า ร้อยละ 50.71 อันดับ 2 เลือกผู้สมัครคนใหม่ ร้อยละ39.36 อันดับ 3 ยังตัดสินใจไม่ได้ ร้อยละ 9.93 5. ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาท้องถิ่น ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.15 อันดับ 2 พรรคประชาชน ร้อยละ 30.68 อันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 15.41 อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 12.92 อันดับ 5 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.84
ต้องรอดูในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งพรรคพท.และปชน. จะงัดไม้เด็ดด้วยวิธีการใดมาช่วงชิงคะแนนเสียง เพื่อคว้าชัยในการเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ซึ่งถือว่ามีความหมายกับทั้งสองพรรค โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งนายทักษิณ ถึงกับเดินทางไปช่วยหาเสียงด้วยตนเอง ถ้าหากต้องพ่ายแพ้ คงมีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของพท. เพราะถือเป็นผู้นำแห่งจิตวิญญาณ อีกทั้งในระหว่างการปราศรัยช่วยผู้สมัครของพรรคพท.หาเสียง นายทักษิณประกาศว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าคาดว่าจะได้ สส. 200 ที่นั่ง ซึ่งพรรคปชน. คงยอมไม่ได้ เพราะตั้งหมายว่า ต้องได้สส. 270 เสียง เพื่อได้เป็นแกนนำรัฐบาล สามารถตั้งรัฐบาลในพรรคเดียวได้หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 66 ได้เสียงข้างมาก แต่ต้องกลับมารับบทแกนนำพรรคฝ่ายค้าน
ขณะที่ขั้นตอนในผลักดันพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ที่จะนำไปใช้สอบความเห็นของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ด้าน “นายนพดล ปัทมะ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพท. ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ในวันที่ 20 พ.ย. ว่า มีวาระเชิญบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาให้ข้อมูลถึงความเป็นไปได้ และความสะดวกในการออกเสียงประชามติผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนใช้สิทธิ์ง่ายขึ้น ส่วนจุดยืนพรรคพท.ยังยืนหลักการตามร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านสภาฯ และไม่เห็นด้วยกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไขซึ่งจะไปอภิปรายโน้มน้าว ส.ว.อีกครั้ง
เมื่อถามว่า หากยืนตามร่างของ สส. แล้วกฎหมายต้องถูกพักไว้ 180 วัน จะกระทบต่อไทม์ไลน์แก้รธน.หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า คงมีผลกระทบบ้างแต่ต้องพยายามทำตามนโยบาย ที่พรรคพท.หาเสียงไว้ แต่เมื่อกฎหมายประชามติเป็นเช่นนี้เราก็ต้องเผชิญกับความเป็นจริง เมื่อถามถึงแนวทางทำประชามติสองครั้งที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. เสนอ มีความเป็นไปได้หรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า นายพริษฐ์ ก็มีสิทธิไปคุยกับประธานสภาฯ แต่ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะบรรจุเป็นระเบียบวาระหรือไม่ ทั้งนี้ตนคิดว่าสังคมไทยต้องเข้มแข็ง พอที่จะรู้ว่า หลักการที่ถูกต้องต้องเดินหน้าอย่างไรไม่ควรขับเคลื่อนบนพื้นฐานความคลุมเครือ เป็นพันธกิจของทุกฝ่าย ที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย
ด้าน” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาการเมืองฯ ของสภาผู้แทนราษฎร โพสต์แจง การขอให้ กมธ. เข้าพบ 3 บุคคล เพื่อหารือทางออกเรื่องการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดย 1.ประธานสภา ยืนยันให้เข้าพบ 27 พ.ย. 2.ประธานศาลรธน. ยืนยันให้เข้าพบ 21 พ.ย. 3. นายกรัฐมนตรี – ยังรอคำตอบทางการ (แต่นายกฯเคยให้สัมภาษณ์เมื่อ 5 พ.ย. ว่า “ไม่ติดอยู่แล้ว” หากจะเข้าพบ)
ก่อนหน้านั้น พรรคปชน. ได้เสนอร่างแก้ไขรธน แบบรายมาตรา เข้ามาแล้ว รวม 17 ฉบับ โดยเฉพาะ.ร่างแก้ไขรธน.มาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรธน. โดยสาระสำคัญ คือ ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงสมาชิกวุฒิสภา( สว.)ร่วมโหวตเป็นจำนวนตามเกณฑ์กำหนด โดยเปลี่ยนใช้เสียง สส.เห็นชอบทั้งหมด และมีเงื่อนไข คือ ต้องได้เสียง สส.เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ของสภาฯ
ต้องรอดูว่า ข้อเสนอของพรรคปชน. จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ รวมทั้งบทสรุปของพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติจะจบลงด้วยวิธีการอย่างไร
“ทีมข่าวการเมือง”