หลังจากกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าตาม 7 มาตรการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง จนสถานการณ์ปลาหมอคางดำในแต่ละพื้นที่ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกันเฝ้าระวังการแพร่กระจาย รวมทั้งสำรวจบ่อร้างกำจัดปลาหมอคางดำ ควบคู่กับสนับสนุนการแปรรูปเพิ่มมูลค่า หนุนการบริโภค เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์อย่างต่อเนื่อง
เริ่มจากจังหวัดเพชรบุรี ที่ประมงจังหวัดได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาปลาชนิดนี้มาโดยตลอด ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ปี 2567-2570 ด้วยกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ควบคุมกำจัดปลานี้อย่างจริงจัง ด้วยแนวทาง “เจอ จับ แจ้ง” เมื่อพบให้จับขึ้นทันที ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐ
พร้อมทั้งจัดตั้งทีมอาสาสมัครปราบปลาหมอคางดำประจำอำเภอ เป็นนวัตกรรมที่ต้องการดึงพลังชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา ช่วยให้เกิดวิธีการใหม่ที่เหมาะกับบริบทและสภาพแวดล้อมของชุมชน ช่วยควบคุมและหยุดยั้งการระบาดของปลาชนิดนี้ในระยะยาวได้ ที่สำคัญมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวเพชรบุรีว่าปลาหมอคางดำลดลงจริง
ความสำเร็จสะท้อนจากผลสำรวจปริมาณปลาหมอคางดำ พบมีอยู่ไม่ถึง 40 ตัวต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร (ตรม.) จากเดิมที่เคยพบ 80 ตัวต่อ 100 ตรม. และยังเดินหน้าบูรณาการทุกภาคส่วนจัดลงแขกลงคลองและปล่อยปลาผู้ล่าต่อเนื่อง รวมทั้งแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างความเชื่อมั่นว่า ปลาหมอคางดำมีประโยชน์ เป็นการรณรงค์ชวนคนไทยบริโภคปลานี้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นอีกแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ด้านสถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสงขลา พบเฉพาะพื้นที่ในอำเภอระโนด ซึ่งประมงจังหวัดมีการสำรวจปริมาณปลาเป็นประจำทุกเดือน พบว่า ความหนาแน่นของปลาหมอคางดำในภาพรวมทุกคลองลดลง เป็นผลจากการดำเนินมาตรการของกรมประมง และจากความต้องการของชาวบ้านที่จับมาเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้น และมีการนำมาแปรรูปทำปลาแดดเดียวซึ่งได้ราคาค่อนข้างดี โดยเฉลี่ยจับขึ้นมาได้วันละ 80 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ประมงจังหวัดสงขลา เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกอำเภอ รวมถึงชาวประมงในทะเลสาปสงขลา ยังช่วยกันเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลานี้อย่างใกล้ชิด
ต่อจากนี้ประมงสงขลาจะเน้นให้ความสำคัญกับการกำจัดปลาหมอคางดำที่อยู่ในบ่อทิ้งร้าง เพื่อป้องกันการหลุดรอดออกมาแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยร่วมมือกับชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เจ้าของบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยจับปลาหมอคางดำจากบ่อที่ทิ้งร้าง
เช่นเดียวกับ จังหวัดจันทบุรี โดยประมงจังหวัดจันทบุรี นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมประมง บูรณาการความร่วมมือทั้ง กรมราชทัณฑ์ ตำรวจ ผู้นำชุมชน เกษตรกร ชาวประมง และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ในด้านอุปกรณ์การจับสัตว์ ลูกปลาผู้ล่า ช่วยกันจัดการปลาหมอคางดำด้วยแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง
สำหรับกรณีปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์อยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะเกษตรกรใส่ใจและมีแนวทางในการจัดการปลาหมอคางดำ ในกระบวนการเตรียมบ่อและระหว่างการเลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสียหายให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามเกษตรกรและกรมประมงมีความกังวลร่วมกันว่า ปลาหมอคางดำที่ยังหลงเหลืออยู่ขณะนี้ คือ ปลาที่อยู่ในบ่อร้างเป็นหลัก และเป็นพื้นที่ของเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน (ส่วนใหญ่เป็นบ่อกุ้งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว) โดยเชื่อว่า ยังมีปลาในบ่อเลี้ยงและบ่อร้างอยู่ไม่น้อย ซึ่งถือเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ได้เร็ว หากเล็ดลอดได้จากการปล่อยน้ำออกจากบ่อเลี้ยง ทั้งที่ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนลงไปมากแล้ว
ปัจจุบัน ยังมีบ่อร้างจำนวนมากในประเทศแต่ไม่มีตัวเลข ไม่สามารถระบุพื้นที่ได้ชัดเจน และปลาหมอคางดำในบ่อร้างพบมากทางภาคใต้และภาคตะวันออก และจังหวัดชายฝั่งทะเลอื่นๆ ที่มีการเลี้ยงกุ้ง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตรวจสอบหรือประกาศให้เกษตรกรที่มีบ่อร้างต้องขึ้นทะเบียนกับกรมฯ เข้าไปดำเนินการจับปลาและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ต้องไม่ให้ความเข้มแข็งของการร่วมมือกันกำจัดปลาหมอคางดำที่ผ่านมาต้องเสียเปล่า ในขณะที่ทุกอย่างกำลังเป็นไปได้ด้วยดี ปลาชนิดนี้ในธรรมชาติลดลงอย่างเป็นรูปธรรม…