จากช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุมีบุคคลอ้างตัวเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ ( กมธ.) หรืออ้างว่า สามารถวิ่งเต้นให้ กมธ.สอบหรือไม่สอบเรื่องอะไรได้ ทำให้รัฐสภาต้องมีแผนเข้มสกัดมิจฉาชีพ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือแจ้งไปให้ กมธ.ทุกคณะ รวมทั้งอนุ กมธ. ให้ตรวจสอบประวัติบุคคลที่อ้างทำงานให้ กมธ.ย้อนหลัง หากไปหลอกต้มตุ๋นใคร ผู้แต่งตั้งนั้นต้องรับผิดชอบทั้งด้านกฎหมายและจริยธรรม

“จริยธรรมของผู้ที่เป็น สส.และ กมธ.ใช้ประมวลฯ เดียวกับศาลและองค์กรอิสระ ไม่ใช่ควบคุมเฉพาะตนเอง แต่ครอบครัวทำผิด กมธ.ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าถูกฟ้องจริยธรรมก็อาจจะพ้นจากสมาชิกภาพและไม่ได้รับสิทธิ์ทางการเมืองหลายปี ผู้ที่จะมาแอบอ้างในสภา ขอให้รู้ว่าสภามีระบบตรวจสอบจะเข้ามาเวลาไหนออกเวลาไหน การติดบัตรปลอมต่างๆ เราสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐสภาไม่อาจให้คนมาใช้แอบอ้าง ระบบต่างๆ จะเข้มงวดขึ้นอีก และเรามีกล้องวงจรปิดจำนวน1,070 ตัว ทุกห้อง กมธ. ทุกมุม มีจอมอนิเตอร์ 20 กว่าตัว” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ S__233332738-1536x907-2-1280x756.webp

ประธานรัฐสภายังกล่าวถึงการถึงการตรวจสอบความพร้อมของอาคารรัฐสภา ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ว่า เมื่อได้รับมอบงาน 100%แล้ว เราก็จะสำรวจว่าในพื้นที่ใดจะใช้เป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกรัฐสภา ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่เข้ามาดูงานให้มากที่สุด ปัจจุบันมีการใช้งานห้องประชุมน้อยมาก เนื่องจากอุปกรณ์ไม่พร้อม ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ และระบบเสียง จึงได้สั่งการให้ทำให้ดีที่สุด โดยใช้งบประมาณของปี 68 หากไม่พอก็ให้ เตรียมการของบปี 69 เพื่อให้ได้ใช้งานอาคารอย่างเต็ม 100% ด้านการรักษาความปลอดภัยจะเพิ่มระบบมากขึ้น

วันที่ 15 พ.ย.นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ( ปช.) ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาผลกระทบจากคดีการสลายการชุมนุมเหตุการณ์ตากใบที่ขาดอายุความ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมอนุ กมธ. เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ว่า เป็นการประชุมนัดแรกเพื่อวางกรอบการทำงานให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 90 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค.68 ที่ประชุมจะพิจารณาศึกษารายละเอียดทั้งหมด 4 กรอบ

“ได้แก่ 1.กรอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ วันที่ 25 ต.ค.47 ว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง และรัฐบาลแต่ละยุคสมัยได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง 2. กรอบการดำเนินคดี ว่ามีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องที่ทำให้คดีล่าช้า แม้มีการออกหมายจับแล้ว ยังไม่สามารถจับกุมได้ 3.กรอบการเยียวยาที่ผ่านมา ว่ามีประเด็นการจ่ายเงินหรือบันทึก หรือมีประเด็นที่เกี่ยวข้องใดบ้างและทำให้คดีไม่คืบหน้าและ 4.ประเด็นที่คดีขาดอายุความว่ามีข้อกฎหมายหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องใดบ้างต่อการเสนอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งอนุ กมธ.ต้องศึกษาเพื่อเสนอไปยังฝ่ายบริหาร”

ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ก็ขอให้คดีตากใบจบลงให้ได้ด้วยดี เพื่อป้องกันไม่ให้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาสร้างความขัดแย้ง เป็นปัญหาต่อความมั่นคงในพื้นที่อีก และรอดูว่าจะมีการแก้กฎหมายอาญาอย่างไร

ส่วนความคืบหน้าเรื่องตั้งกรรมการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา “รองอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าจัดตั้งคณะกรรมร่วมทางเทคนิค (JTC) เพื่อเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกับกัมพูชาว่า ใกล้เรียบร้อยแล้ว กระทรวงต่างประเทศเตรียมเสนอสนธิสัญญา ตนเองเสนอให้กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือเข้าร่วมด้วย เพราะรับผิดชอบในการทำแผนที่ทางทะเลโดยตรงและมีความเข้าใจดี สามารถดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศได้ หรืออาจจะต้องมีคนกลางเข้าร่วมด้วย เช่นผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะให้มีผู้ที่มีศักยภาพเข้ามาดูเรื่องนี้ให้ครอบคลุม

“แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เทคนิคระดับสูง เจรจาไม่ง่าย ดังนั้นการที่จะพูดอะไรออกไปจะต้องพูดด้วยความระมัดระวัง เมื่อ ครม.ตั้ง JTC แล้วจึงเจรจา ไม่ทราบว่าผมเป็นประธานหรือไม่” เมื่อ “นายกฯอิ๊งค์”น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กลับจากประชุมเอเปก คงเห็นภาพรวมการเจรจามากขึ้น ที่สำคัญอย่าให้ไทยเสียเปรียบ


ส่วนกรณีที่ “อดีตนายกฯแม้ว”นายทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยช่วย “ป๊อบ ศราวุธ เพชรพนมพร”ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ตอนหนึ่งว่า เลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อไทยต้องได้ สส.ถึง 200 คน “เลขาบอย”สรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายทักษิณพูดชัดเจนว่า “คาดว่า”โดยดูจากการทำงานของนายกฯและทีมงาน ก่อนที่นายทักษิณจะพูด น.ส.แพทองธารก็มีเป้าหมายที่จะทำให้พรรคกลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งอีกครั้ง ไม่ใช่แค่เพราะนายทักษิณพูด การได้ 200 เสียงอย่างน้อยก็ได้มากกว่าที่ผ่านมา เราจะพยายามทำเต็มที่

เลขาบอยยังกล่าวถึงงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยวันที่ 13-14 ธ.ค.ว่า คาดว่าจะไปที่หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ไปกลับโดยรถไฟ ไม่ทราบว่านายกฯอิ๊งค์เชิญพ่อมาหรือไม่ สามารถเชิญในฐานะนักวิชาการได้ ไม่มีสิ่งที่ผิดอะไร แต่คนจะร้องก็ร้อง อย่าไปมองอะไรที่เป็นเรื่องหยุมหยิม กฎหมายพูดชัดเจนว่าหากทำให้สมาชิกพรรคไม่มีอิสระในการตัดสินใจ ก็จะชัดเจนว่าเป็นข้อหาครอบงำ แต่สิ่งที่ผ่านมาเราชัดเจนอยู่แล้วว่าทุกอย่างเป็นมติพรรค หรือกรรมการบริหาร

วันเดียวกันนี้ ช่วงเย็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะลงพื้นที่หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ช่วย“ทนายเบี้ยว คณิศร ขุริรัง” ผู้สมัคร อบจ.ในนามพรรคประชาชน ( ปชน.) หาเสียงร่วมกับลอยกระทง

สำหรับภารกิจของนายกฯ เมื่อเวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง) วันที่ 14 พ.ย.ตามวันของสาธารณรัฐเปรู ซึ่งกับวันที่ 15พ.ย.ของประเทศไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Mrs. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นายกฯอิ๊งค์ดีใจที่ซอฟพาวเวอร์ของไทยที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเปรู ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไทย เพลงไทย กีฬามวยไทย และได้กล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงเชิญให้เปรูมาลงทุนไทยในสาขาที่มีศักยภาพ เพิ่มความร่วมด้านแฟชั่น โดยเปรูมีผ้าที่ทำจากขนอาลปาก้า กับผ้าไหมไทยที่สามารถนำมาผสมผสานเป็นสินค้าสำคัญได้

นายกฯ หารือกับกลุ่มนักธุรกิจหลายเจ้า รวมถึงคารัน บาเทีย (Karan Bhatia) รองประธานบริษัท ด้านการดูแลและกำหนดนโยบายสาธารณะและความสัมพันธ์กับรัฐบาล จากบริษัทกูเกิล ( Google ) และโซว จือ ชิว (Mr. Shou Zi Chew) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ติ๊กต็อก (TikTok) ด้วย ในการนี้ น.ส.แพทองธาร ได้ขอให้บริษัทเอกชนที่ได้พบ สนับสนุนการลงทุนในไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงการลงทุน

โดยเฉพาะในส่วนของติ๊กต่อก นายกฯอิ๊งค์เชิญชวน TikTok ร่วมมือกับรัฐบาลสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย เพื่อนำเสนอสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์ม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างคอนเทนต์ ด้านการท่องเที่ยวสู่เวทีโลกและสายตาคนทั่วโลกด้วย

จากนั้น เวลา 19.30 น ที่พิพิธภัณฑ์อมาโน ( Amano ) น.ส.แพทองธารเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner ร่วมกับผู้นำภาคธุรกิจของเอเปค และซีอีโอภาคเอกชนอื่น ๆ ที่สำคัญของเปรู นายกฯอิ๊งค์กล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีที่ได้ทราบว่ามวยไทยได้รับความนิยมอย่างมากในเปรูด้วย ซึ่งแฟชั่นและมวยไทยถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ที่เรียกว่าซอฟพาวเวอร์ ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ประเทศไทยได้เปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค รัฐบาลมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ
ก็มาดูกันว่า นายกฯหญิงคนที่สองของไทย จะใช้เวทีเอเปกเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน.