เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ จ.อุดรธานี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของนายศณิศร ขุริรัง ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า ประเด็นหลักในการสื่อสารวันนี้ จะเชิญชวนประชาชนออกไปใช้สิทธิให้มากที่สุด เพราะในเมืองอุดรฯ เป็นเมืองหลวงของชาวที่รักประชาธิปไตย แต่ชาวอุดรฯ ไปอยู่ต่างประเทศเยอะ ทั้ง ไต้หวัน เกาหลีใต้ อิสราเอล ซึ่งสถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 50

นายพิธา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการขนานนามเมืองอุดรฯ ว่าเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงนั้น นี่อ้างอิงผลการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้กว่า 300,000 คะแนนพรรคก้าวไกลได้อันดับที่สอง คะแนน 200,000 กว่าคะแนน ตามด้วยพรรคไทยสร้างไทย ที่ได้ 100,000 กว่าคะแนน ซึ่งหากคะแนนเสียงของฝ่ายค้านพรรคประชาชนและพรรคไทยสร้างไทย รวมกันก็ชนะพรรคเพื่อไทยได้

“จึงตอบคำถามว่าเป็นเมืองหลวงของประชาธิปไตย โดยไม่ได้ใช้คำว่าเมืองหลวงของคนเสื้อแดง เพราะตัวเลขการเลือกตั้งฟ้องมาอย่างนั้น” นายพิธา กล่าว

นายพิธา ยังตอบโต้กลับข้อครหาจากนายทักษิณ ชินวัตร ว่ากลัวแพ้จึงต้องบินลัดฟ้ามาช่วยหาเสียง ว่า มี 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องกลัวแพ้ แพ้มาก็เยอะ แต่ชนะมาก็แยะ และการเลือกตั้งปี 2562 เขตเลือกตั้งที่ 1 ของอุดรฯ ตอนอนาคตใหม่แพ้การเลือกตั้ง พอมาปี 2566 ในนามพรรคก้าวไกล ก็กลับชนะนายศราวุธ เพชรพนมพร ซึ่งเป็นผู้สมัคร สส. ในขณะนั้น

“เพราะฉะนั้นมีแต่เผด็จการเท่านั้นที่กลัวแพ้ การที่จะเป็นนักการเมืองหรือเป็นอดีตนักการเมือง ก็มีแพ้มีชนะเป็นเรื่องธรรมดา อย่างตอนนี้ที่กลับมาจากอเมริกา อย่างที่เคยแพ้ก็กลับมาชนะ คนที่เคยชนะก็กลับมาแพ้ นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเรื่องแพ้ แพ้เยอะมาแล้ว แต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่เช็กมาผมชนะ” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวถึงเรื่องป้ายหาเสียงของผู้สมัครที่มีรูปคู่กับนายพิธา กับนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ว่าเป็นการทำป้ายในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนที่มีการยุบพรรค จึงกลายเป็นป้ายหาเสียงแบบลูกครึ่ง และไม่ได้รู้สึกกังวลกับการลงพื้นที่หาเสียงของนายทักษิณ มองว่าเป็นสีสันทำให้ประชาชนมีความสนใจ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่น แตกต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ อาจไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์จาก กกต. เท่าที่ควร โดยหวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากกว่าร้อยละ 50

นายพิธา กล่าวต่อว่า ส่วนตัวไม่ได้คิดอะไรมาก ที่นายทักษิณลงพื้นที่หาเสียงด้วยตัวเอง แต่ตัวเองไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าอาทิตย์นี้ และอาทิตย์หน้าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง การสัมภาษณ์นักวิชาการของสื่อมวลชน การวิเคราะห์ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. ก็ติดตามรับฟังอยู่ และส่วนตัวไม่แน่ใจว่าคู่แข่งทางการเมืองจะหวั่นกลัวเราหรือไม่

“เวลาเรามองการเลือกตั้ง การทำงานของพรรคประชาชนหรืออดีตพรรคก้าวไกล เรามองไปถึง 2-3 การเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่เพียงแค่ 2 การเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นหากคิดแบบนั้น มีแต่ชนะกับพัฒนา ไม่มีแพ้ แต่เราแข่งกับตัวเองในครั้งที่แล้ว ตอนเป็นอนาคตใหม่ ได้เท่าไร ตอนแข่ง สจ. ได้มา 10 คน ตอนเป็นพรรคก้าวไกล ปี 2566 ได้คะแนนเพิ่มมาเท่าไร ครั้งนี้ตอนเป็น อบจ. คะแนนได้เท่าไร แน่นอนในการเลือกตั้งจริง ในความเป็นจริง คู่แข่งจริง แต่ในการทำงานของพรรคของพวกเราแบบผู้คนและการเดินทางระยะยาว ก็แข่งกับตัวเองในอดีต ถ้าคิดอย่างนี้จะทำงานแบบไม่มีความกดดัน และทุกการเลือกตั้งจะเป็นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาบุคคลองค์กร” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวถึงการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ เป็นโจทย์ยากที่สามารถบริหารได้ เพราะการเลือกตั้งปี 2566 คนออกมาใช้สิทธิอย่างถล่มทลาย ร้อยละ 76 แต่พอมาเป็นเลือกตั้ง อบจ. อยู่ที่ร้อยละ 60 กว่า เพราะว่าข้ามเขตไม่ได้ เลือกตั้งล่วงหน้าไม่ได้ ต้องทำงานในพื้นที่เป็นนโยบายที่ประชาชนจับต้องได้ ปัญหาของแต่ละพื้นที่มีโจทย์ต่างกัน ขณะเดียวกันคิดว่าเมื่อกลับมาจากอเมริกา การเลือกตั้ง ทางพรรคประชาชนก็กลับมาคิดทบทวนเกี่ยวกับวิธีการใช้สิทธิทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้การเลือกตั้งง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงกับเจตจำนงของประชาชน

นายพิธา กล่าวอีกว่า ส่วนหากการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาชนจะชนะ วิเคราะห์ว่ามีหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งตัวผู้สมัครนายก อบจ. เรื่องคู่แข่งทางการเมือง การเสนอนโยบายจูงใจประชาชน แต่ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการออกมาใช้สิทธิของประชาชน ก็จะสร้างความชอบธรรมและสร้างโอกาสชนะมากขึ้น หากมาใช้สิทธิน้อยก็อาจเป็นไปได้ยาก พร้อมฝากข้อความถึงชาวอุดรฯ ว่า “ฮักหลายๆ ไม่ว่าประเพณีไทยสำคัญตอนสงกรานต์ก็มาอยู่ที่อุดรฯ งานลอยกระทงก็มาอยู่ที่อุดรฯ หวังว่าศุกร์ เสาร์ อาทิตย์นี้ จะได้มีโอกาสพบปะกับกับชาวอุดรฯ”

นายพิธา กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ประกาศการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะต้องได้ สส. ไม่ต่ำกว่า 200 คน ว่า ก็เหมือนที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน พูดเรื่องแลนด์สไลด์ ก็แค่นั้น แต่ผลลัพธ์หลังเลือกตั้งประชาชนเป็นคนตัดสิน บอกว่าแต่ละพรรคก็วางแผนได้ แต่สุดท้ายประชาชนคือคนตัดสิน.