โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย แต่จะมีความรุนแรงสูงขึ้นในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี รวมถึงผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอ

ผศ. พญ.โสภิดา บุญสาธร รีฟส์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเปิดเผยให้ข้อมูลถึง สาเหตุของโรคไอกรน ว่า  โรคไอกรนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Bordetella pertussis ซึ่งเป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกันโรคมากว่า 50 ปี ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง แต่ยังคงพบการระบาดได้บ้าง โดยในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 – 1 มีนาคม 2567 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไอกรนทั้งหมด 2,700 ราย คิดเป็น 4.8 ต่อประชากรแสนคน โดยประมาณร้อยละ 40 เป็นผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุ 1-4 ปี ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นโดยเป็นการระบาดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตามจำนวนอาจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากโรคไอกรนวินิจฉัยได้ยากและต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่

อาการของ โรคไอกรน

โรคไอกรนมีระยะฟักตัวประมาณ 7-10 วัน แต่อาจจะนานถึง 20 วันก็ได้ อาการจะแบ่งอาการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะน้ำมูก (catarrhal stage) ระยะนี้อาการจะคล้ายไข้หวัด คือ ไอ มีน้ำมูก อาจจะมีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ และเป็นระยะที่มีการแพร่เชื้อได้มากที่สุด
  2. ระยะไอรุนแรง (paroxysmal stage) ระยะนี้มีอาการไอมากขึ้น ไอติดกันเป็นชุด ๆ ไอจนอาเจียน บางรายอาจจะมีหน้าเขียวเพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ หรือมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วย ระยะนี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้
  3. ระยะฟื้นตัว (convalescent stage) อาการไอจะค่อย ๆ ลดลง ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์

โรคไอกรนในเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจมีอาการรุนแรง เนื่องจากเด็กในช่วงอายุนี้ยังได้รับวัคซีนป้องกันที่ยังไม่ครบหรือบางรายอาจยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ทำให้เด็กยังขาดภูมิคุ้มกัน โดยมักจะรับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่ป่วยและมีอาการไอ เนื่องจากในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไม่มีไข้ มีเพียงอาการไอเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็ก โดยเฉพาะถ้าอายุน้อยกว่า 3 เดือน นอกจากนี้อาจพบภาวะหยุดหายใจ นอกจากนี้ในรายที่ไอมาก ๆ อาจจะมีเลือดออกในเยื่อบุตา มีจุดเลือกออกที่ใบหน้า ส่วนอาการชักสามารถพบได้เช่นกันแต่พบไม่บ่อยนัก

การวินิจฉัยโรคไอกรน

โดยมาตรฐานต้องอาศัยวิธีการเพาะเชื้อ แต่การเพาะเชื้อนั้นทำได้ยาก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก อีกหนึ่งวิธีคือการตรวจสารพันธุกรรมของตัวเชื้อด้วยเทคนิค PCR แต่มีราคาแพงและสามารถทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทำให้โดยภาพรวมการวินิจฉัยยังคงมีข้อจำกัดอยู่มากพอสมควร

การรักษาโรคไอกรน

คือการให้ยาปฏิชีวนะ โดยยารักษาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อให้ผู้ป่วยในช่วง 3-4 วันแรกที่มีอาการ หากผู้ป่วยได้รับยาหลังจากนั้นอาจไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นหรือหายเร็วขึ้นมากเท่าไรนัก ดังนั้นควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเมื่อมีอาการเริ่มต้น

การป้องกันโรคไอกรน

คือการฉีดวัคซีน  โดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำในปี 2565 ว่า เด็กไทยควรได้รับวัคซีนป้องกันไอกรนเมื่อตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และได้รับการกระตุ้นที่อายุ 18 เดือน และอายุ 4-6 ปี (รวมทั้งหมด 5 ครั้ง) และแนะนำให้กระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 10-12 ปี โดยใช้วัคซีนรวม โรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคบาดทะยัก

กลุ่มคนที่ควรได้รับวัคซีนไอกรนอีกหนึ่งกลุ่มคือหญิงตั้งครรภ์

จะเห็นได้ว่า กว่าเด็กจะได้รับวัคซีน 3 เข็ม ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน และดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า ในเด็กเล็กมักจะมีอาการที่รุนแรงกว่าเด็กโต เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวในเด็กเล็ก จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน 1 ครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรน และส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์ได้ โดยสามารถฉีดรวมกับวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่หญิงตั้งครรภ์จะต้องได้รับอยู่แล้วได้ นอกจากนี้ควรแนะนำให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกับเด็กเล็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพาหะนำโรคมาสู่บุตรหลาน

ข้อแนะนำ

หากพบว่าเด็กมีอาการไอเรื้อรังนาน 2-3 สัปดาห์ ควรพาไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคไอกรนได้ ที่สำคัญควรป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี โดยให้ผู้ใหญ่ในบ้านที่มีเด็กเล็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน