สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเทศบาลนครเทียนจิน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ว่าทีมนักวิจัยนำโดย ศ.ฉีเหยี่ยน หลิง จากมหาวิทยาลัยหนานไค ในเทศบาลนครเทียนจิน ทางตอนเหนือของจีน วิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาระยะยาวด้านสุขภาพ และการเกษียณอายุของจีน (China Health and Retirement Longitudinal Study) ซึ่งเป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ที่มุ่งเน้นผู้อยู่อาศัยชาวจีนอายุ 45 ปีขึ้นไป
ในการวิจัยซึ่งจัดทำครั้งแรก เมื่อปี 2561 และอีกครั้งในปี 2563 ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้โซเชียลมีเดียกับอาการซึมเศร้า โดยทดสอบความเชื่อมโยงของการใช้โซเชียลมีเดียในกลุ่มสำรวจ 9,121 คนที่ไม่มีอาการซึมเศร้า ในปี 2561 กับกิจกรรมโซเชียลมีเดียและอาการซึมเศร้า ที่มีรายงานในช่วง 2 ปีถัดมา
ทีมนักวิจัยยังประเมินว่าการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงการใช้แพลตฟอร์มสนทนาอนไลน์ เกม และชอปปิง จะสามารถช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้หรือไม่ ในกลุ่มสำรวจ 5,302 คน ซึ่งมีอาการซึมเศร้า เมื่อปี 2561
สำหรับคนกลุ่มสำรวจที่ระบุในตอนแรกว่า ไม่มีอาการซึมเศร้า การใช้โซเชียลมีเดียเชื่อมโยงกับแนวโน้มมีอาการซึมเศร้า ลดลง 24%
ส่วนในกลุ่มสำรวจที่ระบุว่า มีอาการซึมเศร้า เมื่อปี 2561 พบว่าคนที่เล่นกิจกรรมบนโลกออนไลน์ 3 จาก 7 กิจกรรมที่ตรวจวัดได้ ได้แก่ การแชต อ่านข่าว ดูวิดีโอ เล่นเกม จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ใช้วีแชต และโพสต์โมเมนต์บนวีแชต ในช่วง 2 ปีของการสำรวจ มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะที่ไม่มีอาการซึมเศร้ามากกว่า 1.24 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดีย
นอกจากนี้ ผู้ที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2561-2563 มีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกมากกว่า 1.36 เท่า
ทั้งนี้ ปัญหาภาวะซึมเศร้าในหมู่ผู้สูงอายุจะเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทีมนักวิจัยจึงเสนอแนะว่า ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้หญิง รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยและผู้อยู่อาศัยในชนบท พร้อมทั้งเสนอแนะ การสนับสนุนมาตรการป้องกันและควบคุมที่คุ้มค่า เช่น การอุดหนุนโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้สูงอายุ และการเผยแพร่เนื้อหาความรู้ด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า บนโซเชียลมีเดีย
อนึ่ง สถิติทางการเผยว่าจีนมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 297 ล้านคน เมื่อปี 2566 คิดเป็น 21.1% ของประชากรทั้งหมด ส่วนข้อมูลของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติระบุว่า อัตราความชุกของภาวะซึมเศร้าในจีนอยู่ที่ 2.1% เมื่อปี 2562 และภาวะวิตกกังวลที่ผิดปกติอยู่ที่ 4.98%.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES