เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 เฉพาะส่วนที่อนุญาตให้สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ก่อสร้างอาคารในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน หมู่ที่ 7 ต.บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี แปลงเลขที่ 3 เนื้อที่ 47 ไร่ 79 ตารางวา และแปลงเลขที่ 4 เนื้อที่ 41 ไร่ 32 ตารางวา และให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่ (สรข.3) 02-29/2558 ทะเบียนโรงงานเลขที่ 3 – 52(3) – 32/58 ชบ ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2558 เฉพาะส่วนของโรงงานที่ตั้งอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน หมู่ที่ 7 ต.บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี แปลงเลขที่ 3 เนื้อที่ 47 ไร่ 79 ตารางวา และแปลงเลขที่ 4 เนื้อที่ 41 ไร่ 32 ตารางวา โดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ตามที่ ชาวบ้านบ้านหนองใหญ่-ทับสูง หมู่ที่ 1, 3 และ 7 ต.บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี จำนวน 61 ราย ร่วมกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องนายก อบต.บ่อทอง, อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี, สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อท่อง จำกัด, อบต.บ่อทอง และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ต่อศาลปกครอง ว่า ร่วมกันอนุมัติโครงการก่อสร้างและการประกอบกิจการโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่ง STR 20 ของสหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดมลพิษ มีกลิ่นเหม็นรุนแรง แสบจมูก ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเป็นจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2554 ศาลปกครองกลางได้เคยมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร เฉพาะส่วนที่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารที่ตั้งในเขตปฏิรูปที่ดิน และให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ไม่ชอบด้วย แต่ทว่าอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า คำพิพากษาดังกล่าวได้สร้างความดีอกดีใจให้กับชาวบ้านบ้านหนองใหญ่-ทับสูง ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี จากหมู่ 1, 3, 7 กันอย่างมาก เพราะทนทุกข์ทรมานมากับมลพิษกลิ่นเหม็นของโรงงานดังกล่าวมากว่า 6 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ เป็นบรรทัดฐานที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งชาวบ้านที่รวมตัวกันประท้วงการก่อสร้างและการประกอบกิจการโรงงานผลิตยางพาราดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น จึงได้ร่วมกันเดินทางนำหลักฐานคำพิพากษาดังกล่าวไปร้องต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2554 เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดบุคคลที่เซ็นใบอนุญาตก่อสร้างฯ และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้ว เพื่อไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในอนาคตต่อไปอีก.