เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.กทม. แถลงถึงกรณีกรมที่ดินทำหนังสือเลขที่มท. 0516.2(2)/22062 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2567 เรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่ายังไม่สมควรที่จะเพิกถอน หรือแก้ไข หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เนื่องจากรฟท.ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดินของ รฟท.ว่า เท่าที่ตนติดตามเรื่องที่ดินเขากระโดง ทำไมฝ่ายการเมืองไม่มีการพูดถึง ก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารออกมาแถลงข่าวถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาถือเป็นที่สุดไม่มีอะไรใหญ่กว่า ถึงขนาดรัฐมนตรีบางคนบอกว่าไม่ยอมเสียแผ่นดินแม้แต่ตารางวาเดียว แต่กลับไม่มีการสั่งการอะไร จึงขอเตือนถึงข้าราชการที่รับผิดชอบว่าให้ยึดถือตามกฎหมาย และคำพิพากษาของศาลฎีกา อย่าเกรงใจฝ่ายการเมือง ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งตัวท่านจะเดือดร้อน
นายวิลาศ กล่าวว่า จากที่ตนตรวจสอบพบว่า มีรัฐมนตรีบางคนทำบัตรประชาชนอาศัยอยู่เลขที่บ้านในที่ดินที่อยู่เขากระโดง แล้วข้าราชการที่ไหนกล้าไปไล่ ทั้งนี้เรื่องที่ดินเขากระโดงศาลฎีกาเคยตัดสินไปแล้ว 2 คดี ว่าเป็นที่ดินของ รฟท. ส่วนอีกคดีเป็นคดีศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ยืนยันว่าเป็นที่ดินของ รฟท.ด้วยเช่นกัน จึงมีคำถามว่าแล้วทำไมกรมที่ดินจึงกล้าทำหนังสือไม่เพิกถอนที่ดินดังกล่าวถึง รฟท. เท่ากับเป็นการโต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่อย่างไร
“เรื่องเขากระโดงเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน เหตุการณ์เริ่มตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาวันที่ 8 พ.ย. 2462 กว่า 100 ปีแล้วดึงกันไปมา จนตอนนี้ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงอะไรผิดอะไรถูก ใครจะต้องออกจากพื้นที่ หรือใครมีสิทธิที่จะอยู่ ยังพิสูจน์ไม่ได้ ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตถึงกรมที่ดินว่าการที่เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกาออกมายืนยันว่าที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของ รฟท. ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา และคนที่ไปให้การเป็นพยานต่อศาลจะถือเป็นการให้การเท็จหรือไม่” นายวิลาศกล่าว
นายวิลาศ กล่าวว่า นอกจากนี้การสร้างทางรถไฟสายโคราช-อุบลราชธานี กม. ที่ 375+650 มีการสร้างทางแยกไปอีก 8 กม. เพื่อทำทางไปขนหินจากบ้านเขากระโดง ใน จ.บุรีรัมย์ เพื่อเอามาสร้างทางรถไฟสายดังกล่าว มีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ปี 2562 การที่กรมที่ดินมีหนังสือแจ้ง รฟท.ว่าไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดงถือเป็นการโต้แย้งต่อพระบรมราชโองการหรือไม่
“ที่สำคัญที่สุดมีผู้ส่งหนังสือเป็นเอกสารการบันทึกการประชุมร่วมเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง ลงวันที่ 9 พ.ย. 2513 ระหว่างนายชัย ชิดชอบ และเจ้าหน้าที่ รฟท. โดยมีการบันทึกว่า นายชัยขออาศัยในที่ดินดังกล่าว จากการรถไฟได้ และการรถไฟตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาการอาศัยต่อไป เท่ากับว่าหนังสือฉบับนี้นายชัยก็ยอมรับแล้วว่าไม่ใช่ที่ดินของท่าน แล้วทำไมกรมที่ดินอยู่ดีๆ ไปออกหนังสือรับรองเช่นนั้นมา” นายวิลาศกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวิลาศ กล่าวว่า ตนจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป และหากมีหลักฐาน พยาน ที่เกี่ยวข้องจะมาแถลงต่อสื่อเพิ่มเติม และขอย้ำว่าเมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้วก็ต้องยึดไปตามนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องที่พยายามเบี่ยงเบน มีเจตนาเช่นไร สังคมมองออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลง นายวิลาศได้โชว์ภาพถ่ายทางอากาศแผนที่เขากระโดง ซึ่งครอบคลุมที่ดิน 5,083 ไร่ โดยมีการแบ่งเป็นพื้นที่สนามฟุตบอล บ.ศิลาชัย บุรีรัมย์(1991) จำกัด บ้านพักของอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง และบ้านพักของเครือญาติตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งในบุรีรัมย์ รวมถึงภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบ เมื่อปี พ.ศ. 2497 ขณะที่เป็นที่ดินรกร้าง ที่อยู่ในอาณัติของ รฟท. กับภาพถ่ายดาวเทียมปัจจุบันที่ถูกครอบครอง.