เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 พ.ย. 67 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการตรวจสอบความพร้อมของอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนเปิดสมัยประชุมสภา ในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ ว่า ต้องการให้มีความพร้อมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรองรับก่อนเปิดสมัยประชุมสภา เพราะเห็นว่าสภายังมีทรัพยากรที่ยังไม่ได้ใช้ เช่น ห้องต่างๆ ในแต่ละชั้น เพราะเดิมมีปัญหาเรื่องการไม่ได้รับมอบงานเต็ม 100% แต่ขณะนี้ได้รับมอบงานแล้ว เราก็จะสำรวจว่าในพื้นที่ใดจะใช้เป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกรัฐสภา ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่เข้ามาดูงานให้มากที่สุด และจะทำให้สมศักดิ์ศรีรัฐสภาที่เป็นสถาบันแห่งชาติ โดยให้ใช้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่ามากที่สุด เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีการใช้งานห้องประชุมน้อยมาก เนื่องจากอุปกรณ์ไม่พร้อม ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ และระบบเสียง ตนจึงได้สั่งการให้ทำให้ดีที่สุด โดยใช้งบประมาณของปี 68 หากไม่พอก็ให้เตรียมการของบปี 69 เพื่อให้ได้ใช้งานอาคารอย่างเต็ม 100%
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ยังต้องปรับปรุงโดยด่วน คือห้องที่มีอยู่ ซึ่งจากการไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 13 พ.ย. นั้น ตนได้ลงไปดูถึงระบบรักษาความปลอดภัยของสภา ที่อยู่บริเวณชั้นล่าง ที่จะสามารถดูระบบความปลอดภัยได้ทั้งหมดว่ามีปัญหาตรงไหนบ้าง รวมถึงระบบเตือนภัย เช่น เรื่องไฟไหม้ ก็ทำได้ค่อนข้างดี แต่พื้นที่ตรงนั้นเป็นระบบความปลอดภัยที่เป็นความลับระดับสุดยอด ตนก็เพิ่งได้เข้าไปดูเป็นครั้งแรก แต่ต่อไปจะเพิ่มระบบมากขึ้น คือแทนที่จะต้องลงไปดูจุดควบคุม ก็สามารถดูผ่านโทรศัพท์มือถือได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ต้องการจะเช็ก เช่น ประธานสภา หรือหัวหน้างานที่ต้องตรวจเช็ก เจ้าหน้าที่ แม้ปัญหาน้ำรั่ว ก็สามารถตรวจเช็กดูได้ว่าเกิดจากตรงไหน
“ผมอยู่บ้านก็เปิดดูได้ เลขาฯ สภาผู้แทนราษฎร ก็เปิดดูได้ หรือฝ่ายที่ดูแลความปลอดภัย ก็สามารถกดดูได้ ตรงนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสมบัติของชาติ คือสภา ซึ่งมีราคาตั้ง 2 หมื่นล้านบาท ได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยอย่างดี ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถเช็กได้เลยว่า วันหนึ่ง มีรถทะเบียนเบอร์อะไร เข้ามาในสภาประตูไหน เมื่อไหร่ และออกไปเมื่อไหร่ เราสามารถเช็กย้อนหลังได้ 1 เดือน และต่อไปเราสามารถใช้ระบบนี้ได้อย่างเต็มที่” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
ประธานรัฐสภา กล่าวต่อว่า จากที่มีข่าวว่ามีคนมาแอบอ้างทำงานในสภา ต่อไปก็จะมีระบบตรวจสอบ ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งไปให้ทางคณะกรรมาธิการทุกคณะ รวมทั้งอนุกรรมาธิการด้วย เพราะกรรมาธิการจำเป็นต้องใช้บุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นที่ปรึกษา แต่ต้องให้ตรวจสอบประวัติบุคคลเหล่านี้ย้อนหลัง เพื่อไม่ให้มีปัญหา เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ไปหลอกต้มตุ๋นใคร ผู้ที่แต่งตั้งนั้นต้องรับผิดชอบ นอกจากด้านกฎหมายแล้ว ด้านจริยธรรมก็ต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะจริยธรรมของผู้ที่เป็น สส. และกรรมาธิการ ไม่ใช่ควบคุมเฉพาะตนเอง แต่ครอบครัวทำผิด กรรมาธิการต้องรับผิดชอบด้วย
“คนที่แต่งตั้งผู้ติดตาม ถ้าแต่งตั้งมาจะรับเงินเดือนหรือไม่รับเงินเดือน สิ่งที่ควบคุมชัดเจนคือจริยธรรมของผู้เป็นสมาชิกรัฐสภา เพราะจริยธรรมของ สส. ใช้ฉบับเดียวกับองค์กรอิสระ หรือผู้พิพากษา ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉะนั้นที่มีปัญหานี้ถ้าโดนฟ้องก็อาจจะพ้นจากสมาชิกภาพ และไม่ได้รับสิทธิทางการเมืองหลายปี ดังนั้นผู้ที่จะมาแอบอ้างในสภา ขอให้รู้ว่าสภามีระบบตรวจสอบ จะเข้ามาเวลาไหนออกเวลาไหน การติดบัตรปลอมต่างๆ เราสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า สภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่อาจให้คนมาใช้แอบอ้างไปทำลายความน่าเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อสภาได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า ระบบต่างๆ ขณะนี้เราใช้อยู่แล้ว แต่จะเข้มงวดขึ้นอีก และเรามีกล้องวงจรปิดจำนวน 1,070 ตัว ทุกห้องกรรมาธิการ ทุกมุม โดยมีจอมอนิเตอร์จำนวน 20 กว่าตัว และสามารถเลือกดูได้ทุกจุด ซึ่งระบบนี้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าคนปฏิบัติไม่เข้มงวด ก็อาจจะมีช่องว่างได้ เพราะฉะนั้นต่อไปเราจะเข้มงวดกับปฏิบัติให้มากขึ้น.