เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 15 พ.ย. ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตรวจเยี่ยมสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง เพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่สถาบันฯ โดยมี พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พล.อ.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบัน ให้การตอนรับ
ในโอกาสนี้ รมว.กลาโหม สักการะพญาคชสีห์ เยี่ยมชมผลงานวิจัยและพัฒนาที่โดดเด่น รับฟังบรรยายสรุปภารกิจของสถาบัน ลงนามในสมุดเยี่ยม และเยี่ยมชมผลงานโครงการพัฒนาระบบความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) และศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ (DTI-UTC) ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ พล.อ.พอพล ได้มอบเครื่องหมายกิตติมศักดิ์และประกาศนียบัตรผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับให้แก่ รมว.กลาโหม เพื่อเป็นเกียรติในโอกาสเยี่ยมชมสถาบันด้วย
โดย รมว.กลาโหม กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่ให้การต้อนรับในวันนี้ หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานและผลงานของสถาบันแล้ว ตนมั่นใจว่าสถาบันมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อตอบสนองความต้องการและความพร้อมรบของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นหน่วยงานสำคัญภายใต้กระทรวงกลาโหม ที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์อย่างมีมาตรฐานและเชื่อถือได้
“ผมเชื่อมั่นว่าสถาบันจะสามารถต่อยอดผลงานไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของสถาบันในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไทยในระดับนานาชาติ” รมว.กลาโหม กล่าว
รมว.กลาโหม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่านักวิจัยของ สทป. ในการสร้างเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ต่างๆ เท่านี้ยังไม่เพียงพอ ต้องเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก เพราะจุดอ่อนของบ้านเราคืองานวิจัยมักจะไม่ถูกนำมาใช้ และงานวิจัยบางทีไม่ได้ทำแบบองค์รวม เป็นการแยกส่วน ดังนั้นต้องตั้งเป้าหมายและทิศทางให้ชัดเจน เพราะสิ่งสำคัญคือเราเคยชินกับการซื้อยุทโธปกรณ์ หากจะมีการเปลี่ยนผ่าน ก็คงต้องร่วมมือกับบริษัทที่เป็นคู่ค้า ในเรื่องของการให้เทคโนโลยีของการเข้ามาร่วมทุนในประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องให้ความสำคัญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ถือว่าเป็นความท้าทายของกองทัพ ที่จะพัฒนาตนเองในการรองรับรูปแบบใหม่เหล่านี้ และตนมีแนวคิดที่จะจัดสัมมนาร่วมกันของเหล่าทัพ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้ไปในทิศทางเดียวกันด้วย.