เมื่อวันที่ 14 พ.ย. “อดีตนายกฯแม้ว” ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเวทีช่วย “ป๊อบ ศราวุธ เพชรพนมพร” หาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) อุดรธานี ซึ่งแม้ร้างเวทีมานาน แต่ลีลาอดีตนายกฯ ก็ยังเป็นที่ชื่นชอบ ประเด็นสำคัญคือ เน้นเรื่องสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะทำงาน อาทิ อดีตนายกฯ ใช้เงินส่วนตัว 300 ล้านบาทจ้างชาวต่างชาติ ปรับปรุงโอทอป ( สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ) ครั้งใหญ่ อีกไม่นานเขาจะเปิดตัวว่าจะทำอะไรเพื่อปรับปรุงโอทอปให้ไปขายทั่วโลก แล้วจะมาเสนอ “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร

เรื่องหลักๆ ที่“พ่อแม้ว”บอกว่า“ลูกอิ๊งค์”จะทำ คือ สั่งการให้กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน การแก้ไขปัญหาคอลเซนเตอร์ที่ต่อไปธนาคารต้องรับผิดชอบร่วม แก้ไขปัญหาการผูกขาดโดยรัฐหรือเอกชน ที่ทำให้คนไทยจนเนื่องจากถูกจำกัดการเข้าถึงทรัพยากร มีแนวคิดส่งนักเรียนไทยไปเรียนเมืองนอก แก้ไขกฎหมายที่มีปัญหา..ซึ่งนายทักษิณเรียกว่าเป็นกฎหมายเฮงซวย ออกมาจากคณะรัฐประหารเพื่อจัดการกับเขาเพียงคนเดียว แต่ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสหลายอย่าง

โดยเฉพาะการได้คนดีมีความสามารถมาทำงาน ที่มาไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขกฎหมายบางอย่าง บนเวที นายทักษิณวางเดิมพันอ้อนคนอุดรธานี “ถ้าไม่ได้ชนะถล่มทลาย ผมอายเขานะ คนอุดรอย่าให้ผมอายนะ ถ้าไม่อาย ผมจะได้มาเยี่ยมบ่อยๆ ถ้าไม่งั้นผมต้องใส่หน้ากากอนามัยมาเยี่ยม” และย้ำว่า ประเทศจะเจริญได้ต้องลดอำนาจภาครัฐ เพิ่มอำนาจให้ภาคประชาชน ป้องกันเรื่องโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน

“พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาชน ( ปชน.) หรือพรรคสีส้ม มีความเหมือนคือเรื่องของความเท่าเทียม แต่พรรคประชาชน บอกว่าทุกคนเท่ากัน ทั้งฐานะหรือสถานะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พ่อจะเท่ากับลูก แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นความเท่าเทียมทางโอกาส พรรคเพื่อไทยจึงพยายามอย่างยิ่งให้จนยากจนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ขอให้มั่นใจว่ากลางปีหน้าจะเห็นแสงสว่าง ปลายปีหน้าจะรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นเยอะ”

จากนั้น นายทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า ที่เคยบอกว่าจะกลับมาเลี้ยงหลาน แต่กลับมาขึ้นเวที ก็แค่อยากช่วยบ้านเมือง ในฐานะอดีตนายกฯ และเป็นคนไทย มันก็อดไม่ได้ที่จะห่วงใยบ้านเมือง เห็นอะไรไม่ดีก็อดไม่ได้ จึงต้องตั้งตำแหน่งให้ตัวเอง ว่า “สทร.” (เสือกทุกเรื่อง) ด้วยความห่วงใย และอดีตนายกฯ ยังไม่เชื่อว่า รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอม ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา พรรคร่วมเห็นต่างกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถึงเวลาเขาก็คุยกันรู้เรื่องหมด

เมื่อถามว่า ที่พูดบนเวทีว่ากลางปีประเทศไทยจะมีแสงสว่าง จะมีอะไรออกมาให้ประชาชนเห็น นายทักษิณกล่าวว่า เชื่อว่างานที่ตนและ น.ส.แพทองธารทำจะเริ่มเห็นความชัดเจนขึ้น นายกฯ จะแจ้งก่อนสิ้นปีนี้ และก็จะสัมฤทธิ์ผลแทบทุกอย่าง ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงการแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน


อย่างไรก็ตาม นายทักษิณปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเกรงจะถูกครหาว่า ทำเพื่อใครหรือไม่ เรื่องคดี ม.112 เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลให้สัตยาบันไว้ว่าเราจะไม่แตะเรื่องนี้ ซึ่งปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย เขาเองก็เป็นเหยื่อรายหนึ่ง การแสดงความจงรักภักดีที่ถูกต้อง คือการรักษากฎหมาย บังคับใช้อย่างเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่ก็ไม่ง่ายต้องใช้เวลา

“เคยคุยกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าว่า ผมก็โดนเล่นงาน 3 พรรค ต้องไปอยู่ต่างประเทศ 17 ปี แต่ขอให้เราช่วยทำงานให้บ้านเมือง อย่าพยายามไปรื้อโครงสร้างให้มากเกินไป ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยหลักการ และเอาบ้านเมืองให้อยู่ได้มันจะดีที่สุด ผมไม่ได้บอกว่านายธนาธร หรือพรรคก้าวไกลไม่จงรักภักดี แต่ต้องยึดหลักให้ถูกต้อง อย่าไปมุ่งหาเสียง บางครั้งจุดที่โฆษณามันอันตราย” ผู้สื่อข่าวจึงถามอีกว่า หากจะแก้ปัญหาโดยไม่แตะโครงสร้างจะทำอย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่า “ถ้ากฎหมายไม่ดีก็ต้องแก้ไขกฎหมายไปที่ละขั้นตอน ไม่ใช่บอกกฎหมายไม่ดีแล้วไม่ทำอะไรเลย”

ว่ากันว่า เกิดกระแสความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทย จากกรณีเขากระโดง ที่มติกรรมการจากกรมที่ดินเห็นว่า ไม่ต้องคืนที่เขากระโดงให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) เพราะ รฟท.อ้างสิทธิ์ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ “เสี่ยหนู”อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย กล่าวยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้ง พรรคเพื่อไทยจะเอาคืนพรรคภูมิใจไทยเรื่องอะไร เรื่องของกระโดงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายปฏิบัติตามคำสั่งศาล ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบของกรมที่ดิน

“อยู่กระทรวงมหาดไทย กว่าจะมาได้แทบตาย ไม่มีเหตุผลที่ผมต้องไปปกป้องผลประโยชน์ใครให้คนมาด่าสาดเสียเทเสีย ต่อให้พ้นตำแหน่งไปก็ยังโดนตราบาปไปตลอดชีวิต ที่เลขาธิการกฤษฎีกา แนะนำให้กรมที่ดิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พูดคุยกันเพื่อเจรจาหาข้อยุติ ก็ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ขออย่านำเรื่องนี้มาโยงกับ รมว.มหาดไทย หาก รฟท.ยังไม่พอใจก็ไปฟ้องศาลต่อ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว”นายอนุทินกล่าว และว่า หากดูสถิติ รัฐบาลจะล้ม ก็เพราะล้มกันเองในรัฐบาล เพราะฉะนั้นคนในรัฐบาลรักต้องสามัคคีทำงานเพื่อ ชาติและประชาชน

สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชน ( ปชน.) เตรียมเสนอแก้ไขรายมาตราในครั้งเปิดประชุมสภา ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยเสนอมา 17 ฉบับ มีร่างแก้ไขที่น่าสนใจ อาทิ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ มีสาระสำคัญคือ แก้ไขการโหวตลงมติแก้รัฐธรรมนูญในวาระ1 และวาระ3 ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และในจำนวนนี้ต้องเสียง สส.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 2ใน3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร จากเดิมที่ต้องให้ สว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ก็ตัดอำนาจ สว.

ร่างแก้ไขมาตรา106 แก้ไขให้พรรคการเมืองที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สามารถมี สส.ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ ร่างแก้ไขมาตรา 129 เพิ่มอำนาจของกรรมาธิการ กมธ.ในการเรียกบุคคลมาชี้แจง ร่างแก้ไขมาตรา 50 การบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติที่ไม่มีภัยสงคราม เสนอแก้ไขให้การรับราชการทหาร เมื่อมีภัยสงครามหรือเหตุที่ประเทศเผชิญสงครามในระยะเวลาอันใกล้ตามที่กฎหมายกำหนด ร่างแก้ไข มาตรา236 ว่าด้วยการยื่นตรวจสอบ ป.ป.ช. เสนอแก้ไขให้อำนาจสมาชิกรัฐสภาดำเนินการผ่านประธานรัฐสภา โดยกำหนดให้ประธานรัฐสภาหลังได้รับเรื่องต้องส่งให้ประธานศาลฎีกาทันที โดยไม่ต้องใช้ดุลยพินิจใดอีก

สำหรับภารกิจของ “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ในช่วงเยือนนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา นายกฯ ได้เน้นย้ำกับคณะเอกอัครราชทูตให้มีการทูตเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ประสานผู้แทนการค้า เพื่อมองหาการลงทุนในต่างประเทศมาลงทุนในไทย พูดคุยกับทีมไทยแลนด์ในอเมริกา ถึงการสนับสนุนและพัฒนาสตาร์ทอัพด้วย เพราะ คนไทยมีศักยภาพ จึงอยากสร้างโอกาสให้คนไทยกลับมาทำงาน และช่วยกันพัฒนาประเทศไทยเยอะๆ

ต่อมา นายกฯ เดินทางไปกรุงลิมา ประเทศเปรู เพื่อร่วมประชุมเอเปกครั้งที่ 31 ก่อนประชุม นายกฯ เยี่ยมชม Inka Plaza ตลาดของฝากและสินค้าพื้นเมืองเปรู ในการประชุมเอเปก น.ส.แพทองธารจะมีโอกาสได้พบปะกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ซึ่งไม่เคยพบกันอย่างเป็นทางการมาก่อน นายกฯ หวังว่าการพบกับผู้นำในหลายเขตเศรษฐกิจในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้แนะนำให้แต่ละประเทศสมาชิกทราบว่าไทยกำลังสนใจประเด็นใดอยู่ และมองเห็นปัญหาอะไรร่วมกันกับทั่วโลก และมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำทางด้านธุรกิจ อาทิ ไมโครซอร์ฟ (Microsoft), กูเกิ้ล (Google), ติ๊กต็อก (TikTok) จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถเจรจาให้เกิดการลงทุนในไทยได้ และยังขายสินค้าการเกษตรของไทยด้วย.