เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สั่งการให้การรถไฟฯ ยื่นหนังสืออุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อน กับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ และ ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ไปยังอธิบดีกรมที่ดินนั้น

แหล่งข่าวในกรมที่ดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่การรถไฟฯ ยื่นหนังสืออุทธรณ์ฯ ในประเด็นดังกล่าวมาที่กรมที่ดิน ไม่มีประโยชน์ เพราะตามหนังสือที่กรมที่ดิน เคยแจ้งไปยังการรถไฟฯ ว่าแนวทางที่ถูกต้องคือ ต้องไปอุทธรณ์ต่อศาลแพ่ง พร้อมหลักฐานใหม่ประกอบ หากจะดำเนินการเพิกถอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ต้องฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดิน เป็นรายแปลง จำนวน 900 กว่าแปลง

“ประเด็นคือแผนที่ของการรถไฟฯ เป็นแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินสร้างทางรถไฟหรือไม่ กรมที่ดินเห็นว่า เป็นแผนที่ที่ทำขึ้นปี 2539 เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชน ไม่ใช่แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา การรถไฟฯ ต้องพิสูจน์ แผนที่ที่ทำไปอ้างในศาล เป็นแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ หรือเป็นแผนที่ที่มาจากที่ใด” แหล่งข่าว ระบุ.