อาการแพ้ยา เป็นปฏิกิริยาการต่อต้านของร่างกาย เกิดขึ้นได้กับยาทุกชนิด ความรุนแรงของอาการที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” บอกเล่าสาระความรู้และวิธีปฏิบัติตัวต่อภาวะอาการแพ้ยา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และแบบไม่เฉียบพลัน ซึ่งอาการแพ้แบบรุนแรง มักแสดงอาการหลายระบบร่วมกัน
อาการแพ้ยาแบบเฉียบพลันรุนแรง ได้แก่
@ ผื่นลมพิษทั่วตัว
@ ตาบวม ปากบวม
@ หอบเหนื่อยขึ้นทันที กรณีอาการรุนแรงมากอาจมีเสียงวี้ด
@ ความดันโลหิตต่ำอย่างมีนัยยะสำคัญ
อาการแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลันรุนแรง มีดังนี้
@ ผื่นที่ผิวหนังรุนแรง เกิดตุ่มพอง ผิวหนังลอก
@ แผลในปาก เจ็บแสบตา ตาแดง
@ ไข้สูง ตาเหลือง
สำหรับยากันชัก และยารักษาโรคเก๊าต์ (ยาลดกรดยูริก) ทำให้เกิดอาการแพ้ไม่เฉียบพลันแต่รุนแรง ส่วนยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ “ที่พบบ่อย” อาทิ ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมักทำให้เกิดอาการแพ้เฉียบพลัน
ทำอย่างไรหากสงสัยว่าแพ้ยา
1.หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการแพ้ยา ควรหยุดการใช้ยานั้นทันที
2.นำยาที่ใช้ทั้งหมด พร้อมฉลากและชื่อยา ไปพบแพทย์ด้านภูมิแพ้
3.ถ่ายภาพอาการที่เกิดขึ้นเพื่อประกอบการวินิจฉัยและป้องกันภาวะแพ้ยาซ้ำ ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
4.หากมีอาการแพ้ดังกล่าว และมีอาการรุนแรง ควรโทรศัพท์สายด่วน 1669 เรียกรถพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาทันที