จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ไปซื้อหมูกระทะแบบตักมาจากร้านหนึ่ง โดยมีราคาถูกมาก กิโลกรัมละ 130 บาท น่าจะถูกที่สุดเท่าที่เคยซื้อ แล้วกินหมูไม่หมด วันนี้เลยไปซื้ออีกร้านมาเพิ่ม ในราคากิโลกรัมละ 179 บาท (คือหมูส่วนที่ไม่เรืองแสง) ซื้อมารวมกัน ยกขึ้นมาจะไปกินชั้น 3 จึงปิดไฟแล้วเจอ “หมูเรืองแสง” แบบชัดเจนมาก แล้วคือที่กินไปวันนั้น กับมีรสชาติอร่อย เกิดมาเพิ่งเคยเจอ คือ ตอนเปิดไฟแยกไม่ออกเลย ระหว่างอันที่เรืองแสงกับไม่เรืองแสง พร้อมแนะให้ระวัง ตามที่ข่าวเสนอไปก่อนหน้านี้
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ว่า “เนื้อหมูดิบ เรืองแสง ไม่ควรนำมาบริโภคครับ” หลังมีคำถามทางบ้านมาจากโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ได้โพสต์ภาพ “เนื้อหมู” ที่เรืองแสงได้
โดย อ.เจษฎ์ ระบุข้อความว่า “ไม่ปกติครับ ถ้าเป็นเนื้อหมูดิบ (รวมถึงเนื้อสัตว์อื่นๆ เช่น พวกเนื้อปลา เนื้อกุ้ง ลูกชิ้น ฯลฯ) เพราะน่าจะเกิดจากการที่มีเชื้อจุลินทรีย์ และแบคทีเรีย ชนิดที่เรืองแสงได้ มาเจริญเติบโตบนเนื้อนั้น และมักจะมีอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งตามข้อมูลที่เขาระบุมานี้ ก็เป็นไปได้ว่าเนื้อหมูนั้น เก่าเก็บ มีเชื้อจุลินทรีย์เจริญแล้ว เลยเอามาขายถูกๆ ซึ่งไม่ควรจะทำนะครับ”
“เชื้อโรคบางชนิด อาจจะสร้างสารพิษที่ทนความร้อนได้ ถึงเอาไปประกอบอาหารจนสุก ก็ยังอาจจะเสี่ยงต่อสุขภาพได้อยู่ดีวิธีตรวจสอบก็คือ ให้เอากระดาษทิชชู นำมาห่อชิ้นเนื้อที่เรืองแสง ที่น่าสงสัยนั้นไว้ ถ้าเวลาผ่านไป แล้วสีรุ้งบนเนื้อหรือการเรืองแสง หายไป เนื้อนั้นก็น่าจะมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน ควรจะต้องทิ้งไป อย่าไปเสียดายเอามากินต่อ”
อย่างไรก็ตาม “ส่วนกรณีที่เป็นเนื้อหมู หรือเนื้อเป็ด และอื่นๆ ที่นำไปประกอบแล้ว เห็นเป็นเงาสะท้อนแสง หรือสีรุ้งบนผิวของเนื้อ อันนั้นปกติครับ สามารถกินได้” อ.เจษฎ์ กล่าว
ขอบคุณข้อมูล : Jessada Denduangboripant