สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ว่าประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียน ผู้นำอิหร่าน ถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐ เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่สอง ในเดือน ม.ค. ปีหน้า ว่าไม่ว่าอิหร่านจะรู้สึกอย่างไรกับอีกฝ่าย หรือมองอีกฝ่ายแบบใด แต่ทั้งสองประเทศไม่สามารถหลีกเลี่ยงกันและกันได้ บนเวทีระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นการดีกว่า หากทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อบรรเทาความตึงเครียดของความสัมพันธ์
ขณะที่นายอับบาส อารักชี รมว.การต่างประเทศอิหร่าน กล่าวว่า แม้ยังมีจุดยืนแตกต่างกันในหลายเรื่อง ระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองฝ่ายควรบริหารจัดการประเด็นเหล่านั้นร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตามมา และเพื่อบรรเทาบรรยากาศตึงเครียด โดยกล่าวด้วยว่า “ช่องทางทั้งหมดที่มี” เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน “ยังคงดำเนินอยู่”
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐสมัยแรกของนายทรัมป์ ระหว่างปี 2560-2564 ใช้นโยบาย “กดดันสูงสุด” กับอิหร่าน ที่เกิดขึ้นหลังทรัมป์เดินหน้ามาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลเตหะรานอย่างหนัก หลังนำสหรัฐถอนตัวฝ่ายเดียวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เมื่อปี 2561 ซึ่งในเวลานั้น ซารีฟดำรงตำแหน่งรมว.การต่างประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการเจรจา จนรัฐบาลเตหะรานบรรลุข้อตกลงดังกล่าวกับกลุ่มมหาอำนาจ เมื่อปี 2558
ทั้งนี้ อิหร่านตอบโต้ ด้วยการกลับมาเดินหน้าโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ให้มีความบริสุทธิ์สูงสุด 60% ซึ่งอีก 30% จะถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของการนำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์ คือ 90%
แม้ตลอดระยะเวลาที่สหรัฐยังเป็นภาคีของข้อตกลง อิหร่านยังคงเสริมสมรรถนะยูเรเนียม แต่มีระดับความบริสุทธิ์เพียง 3.5%
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเป็นผู้สั่งการให้กองทัพสหรัฐ ลอบสังหารพล.ต.กัสเซ็ม สุไลมานี หนึ่งในทหารอาวุโสนายสำคัญของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (ไออาร์จีซี) เมื่อปี 2563 ด้วย
ด้านทรัมป์กล่าวถึงอิหร่าน ในวันได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่าไม่เคยมีแนวคิด “ทำลายล้าง” อิหร่าน และนโยบายของเขาที่มีต่ออีกฝ่ายนั้น “ง่ายมาก” นั่นคือ อิหร่าน “ต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาด”.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES